ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคเกาหลี (KDCA) ออกแถลงการณ์วานนี้ (1 ธ.ค.) ยืนยันการพบ ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน เป็นครั้งแรกในประเทศ โดยระบุว่า มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนจำนวน 3 ราย ในจำนวนนี้ 2 รายเป็นคู่สามีภรรยาที่ได้เดินทางไปยังไนจีเรีย ซึ่งเป็นประเทศในแอฟริกา เมื่อวันที่ 14-23 พ.ย. ส่วนอีก 1 รายเป็นเพื่อนของพวกเขา
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้ทำการตรวจหาเชื้อโอไมครอนจากลูกชายของสามีภรรยาคู่นี้ โดยจะทราบผลตรวจในวันนี้
ด้านนายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยถึงสถานการณ์ล่าสุดว่า ขณะนี้เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนได้แพร่ระบาดไปใน 23 ประเทศทั่วโลกแล้ว และ WHO คาดการณ์ว่าจำนวนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอีก
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญของ WHO กำลังทำการศึกษาเกี่ยวกับความสามารถในการแพร่กระจายของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน รวมทั้งอาการรุนแรงของโรคที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ บริษัทต่าง ๆในแวดวงยาและเวชภัณฑ์ก็กำลังทดลองวัคซีนและยาที่จะรับมือไวรัสดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO ระบุว่า จนถึงขณะนี้ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตายังคงครองสัดส่วนมากที่สุดในจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลก และการใช้มาตรการในการสกัดไวรัสสายพันธุ์เดลตาก็จะช่วยสกัดสายพันธุ์โอไมครอนได้เช่นกัน
ปัจจุบัน รัฐบาลหลายประเทศได้พยายามสกัดกั้นไวรัสดังกล่าว ด้วยการประกาศห้ามผู้เดินทางจากประเทศในทวีปแอฟริกาตอนใต้เข้าประเทศ แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนก็เตือนว่า ความพยายามดังกล่าวอาจจะสายเกินไปแล้ว โดย WHO แถลงว่า โอไมครอนมีแนวโน้มแพร่กระจายได้เร็วกว่าโควิดสายพันธุ์ก่อนหน้า และผู้ที่เคยป่วยแล้วก็มีความเสี่ยงที่จะกลับมาติดเชื้อซ้ำได้อีก
ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาเริ่มใช้มาตรการห้ามผู้เดินทางส่วนใหญ่จาก 8 ประเทศแอฟริกาตอนใต้ได้แก่ แอฟริกาใต้, บอตสวานา, ซิมบับเว, นามิเบีย, เลโซโท, เอสวาตีนี, โมซัมบิก และมาลาวี โดยชาวต่างชาติที่เคยเดินทางไปยังประเทศเหล่านี้ในช่วง 14 วันจะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าสหรัฐด้วย
ด้านแคนาดาก็ประกาศปิดพรมแดนไม่รับผู้เดินทางจากกลุ่มประเทศแอฟริกาตอนใต้เช่นกัน เช่นเดียวกับอังกฤษ และสหภาพยุโรป (อียู)
ประเทศอื่น ๆ ก็ได้เริ่มใช้มาตรการจำกัดการเดินทางแล้ว อาทิ สิงคโปร์ อินเดีย ญี่ปุ่น อิสราเอล ตุรกี สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึงประเทศไทย
รัฐบาลญี่ปุ่นถึงกับประกาศห้ามชาวต่างชาติจากทุกประเทศทั่วโลกเดินทางเข้าประเทศเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโอไมครอน โดยมาตรการดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันอังคารที่ 30 พ.ย.เป็นต้นไป
นอกจากผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO ที่ออกมาเรียกร้องให้นานาประเทศอย่าตื่นตระหนกจนทำให้มีการออกมาตรการป้องกันแบบเหวี่ยงแห ซึ่งจะเป็นการลงโทษชาติแอฟริกาอย่างไม่เป็นธรรมนั้น ยังมี นายริชาร์ด เลสเซลส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในแอฟริกาใต้ ที่ออกมาตำหนิมาตรการจำกัดการเดินทางที่ทั่วโลกนำมาใช้ โดยย้ำว่าสิ่งสำคัญกว่าอื่นใดในเวลานี้ คือการเร่งกระจายวัคซีนไปยังประเทศที่ขาดแคลนต่างหาก
ขณะเดียวกันนายเบน โคว์ลิง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงระบุว่า “มีความเป็นไปได้สูงที่ไวรัสโอไมครอนอาจแพร่เชื้อเข้าไปยังหลายประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นการสั่งปิดพรมแดนอาจจะสายเกินไปแล้วก็เป็นได้”