กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกโรงเรียกร้องให้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งการคุมเข้ม นโยบายการเงิน เนื่องจากขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณความเสี่ยงเกี่ยวกับ เงินเฟ้อ ที่จะพุ่งทะยาน ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐกำลังใกล้แตะระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ขณะที่ตลาดแรงงานตึงตัว ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อในวงกว้าง
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้นต่อสภาวะเงินเฟ้อเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงเขตยูโรโซน (กลุ่มประเทศในยุโรปที่เงินยูโร)
"ดังนั้น จึงเป็นการเหมาะสมสำหรับเฟดที่จะเร่งการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพื่อปูทางสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย" IMF ระบุ
เมื่อเร็ว ๆนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 6.2% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2533 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.9% จากระดับ 5.4% ในเดือนก.ย.
ก่อนหน้านี้ นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ส่งสัญญาณยุติโครงการ QE เร็วกว่าที่คาดไว้ ซึ่งจะปูทางให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด โดยเขากล่าวว่า เฟดอาจจะปรับลดวงเงิน QE มากกว่าเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ โดยเฟดจะมีการหารือกันในเรื่องดังกล่าวในการประชุมนโยบายการเงินกลางเดือนนี้ (วันที่ 14-15 ธ.ค.)
ทั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% ในการประชุมวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา และเฟดมีมติจะปรับลดวงเงิน QE เดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ เริ่มตั้งแต่เดือนพ.ย. เป็นต้นไป ซึ่งการลดวงเงิน QE ดังกล่าวจะทำให้เฟดยุติการทำ QE โดยสิ้นเชิงในช่วงกลางปี 2565
วาณิชธนกิจโกลด์แมน แซคส์ ออกรายงานคาดการณ์ว่า เฟดจะเพิ่มการปรับลดวงเงิน QE เป็นเดือนละ 30,000 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากเดิมเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะปูทางให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.ปีหน้า (2565) และนั่นจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย “ครั้งแรก” นับตั้งแต่ที่สหรัฐเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563