วันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กองค์การยูเนสโก กรุงเทพ ได้ประกาศมอบ รางวัลด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประจำปี 2021 ประเภท Award of Merit ให้แก่ “บ้านขุนพิทักษ์รายา” จังหวัดปัตตานี โดยยูเนสโกระบุว่า
"โครงการบูรณะบ้านขุนพิทักษ์รายาซึ่งเป็นโครงการอนุรักษ์เพื่อเป็นเกียรติแก่บรรพบุรุษของต้นตระกูล ไม่เพียงเป็นการทำนุบำรุงไว้ซึ่งบทหนึ่งที่สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของตระกูล แต่ยังเป็นการอนุรักษ์ไว้ซึ่งสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นแห่งหนึ่งในย่านใจกลางเมืองปัตตานี"
“มีการค้นคว้าข้อมูลอย่างละเอียดลออลึกซึ้งเพื่อให้การอนุรักษ์ครั้งนี้คงไว้ซึ่งรูปแบบ โครงสร้าง และการใช้วัสดุแบบดั้งเดิมของตัวอาคาร นอกจากนี้ ข้อมูลจากการค้นคว้ายังจะเป็นพื้นฐานสำหรับการตีความมรดกทางวัฒนธรรมและการศึกษาของสาธารณชนต่อไปในอนาคต โครงการนี้เป็นตัวอย่างของชุมชนหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรมที่ถักทอหล่อหลอมเป็นสังคมหลากวัฒนธรรมของจังหวัดปัตตานี”
ยูเนสโกยังระบุว่า การบูรณปฏิสังขรณ์บ้านอายุนับร้อยปีครั้งนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เจ้าของบ้านคนอื่น ๆ ทางภาคใต้ของประเทศไทยในการพลิกฟื้นคืนชีวิตให้กับชุมชนเมือง
ทั้งนี้ บ้านขุนพิทักษ์รายา เลขที่ 251 ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนหัวตลาด บนถนนสายเล็ก ๆ ชื่อว่า “ปัตตานีภิรมย์” ขนานกับแม่น้ำปัตตานี เป็นย่านการค้าและพักอาศัยของชุมชนชาวจีนกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามายังเมืองแห่งนี้ จึงนับเป็นพื้นที่สำคัญของประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของผู้คน
“ขุนพิทักษ์รายา” ที่มาของชื่อบ้าน มีนามภาษาจีนว่า “บั่นซิ่ว” เป็นบุตรของ พระจีนคณานุรักษ์ (จูล่าย ตันธนวัฒน์) กับ นางเบ้งซ่วน แซ่จุ่ง เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน 10 ปีมะแม ตรงกับ พ.ศ.2413 ในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นบรรพบุรุษต้นตระกูล “สุวรรณมงคล”
หนังสือ "บ้านขุนพิทักษ์รายา" ของสำนักพิมพ์ Riverbooks ระบุไว้ว่า ผู้ที่คิดริเริ่มการบูรณะฟื้นฟูบ้านขุนพิทักษ์รายา คือคุณอนุพาสน์ สุวรรณมงคล ทายาทรุ่นที่4 ท่านคือผู้ดำริการบูรณะปฏิสังขรณ์บ้านเก่าหลังนี้ ซึ่งเป็นมรดกตกทอดสืบจากมารดา (คุณศรีสุมาลย์ สุวรรณมงคล) ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่สนใจการอนุรักษ์ฟื้นฟูบ้านเก่าภายในย่านดังกล่าว ให้ได้มีองค์ความรู้และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดูแลบ้านเก่าของตนเอง
ตัวอาคาร"บ้านขุนพิทักษ์รายา" เป็นเรือนแถว 2 ชั้น 2 คูหา 2 ช่วงเสา รูปแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมท้องถิ่นและสถาปัตยกรรมจีน ชั้นล่าง มีโครงสร้างเป็นผนังรับน้ำหนักโดยใช้อิฐก่อและฉาบด้วยปูน ชั้น 2 เป็นโครงสร้างเสาคาน เสาไม้เชื่อมต่อลงมาถึงชั้นหนึ่งของบ้าน หลังคาส่วนหน้าเป็นทรงจั่ว ส่วนหลังเป็นทรงปั้นหยา ทั้งหมดมุงด้วยกระเบื้องดินเผามุงหลังคาแบบปลายแหลม การวางผังแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก โดยยังยึดถือคติความเชื่อแบบดั้งเดิม คือ ด้านหน้าเป็นพื้นที่กึ่งส่วนตัว ด้านหลังและชั้นสองใช้สำหรับพักผ่อน โดยพื้นที่ทั้งสองถูกเชื่อมด้วยลานกลางหาว หรือ ‘ฉิมแจ้’ ลานโล่งกลางบ้านตามหลักฮวงจุ้ย เป็นที่ตั้งของบ่อน้ำและช่วยถ่ายเทอากาศให้หมุนเวียน เย็นสบาย
บ้านหลังนี้มีประวัติศาสตร์คู่บ้านคู่เมืองปัตตานี นอกจากเป็นภาพสะท้อนความเจริญของเมืองปัตตานีในอดีตและการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวจีน ซึ่งได้มีการประยุกต์และปรับตัวให้เข้ากับการอยู่อาศัยในพื้นที่ชุมชนหัวตลาดแล้ว ยังมีการบันทึกกล่าวถึงตำแหน่งของบ้านขุนพิทักษ์รายาในสมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสปัตตานี และมีภาพบ้านขุนพิทักษ์รายาปรากฏอยู่ในภาพถ่ายในช่วงปี พ.ศ.2484 ที่มีเหตุการณ์ยกพลขึ้นบกของกองทัพญี่ปุ่นด้วย
สำหรับการจัดทำโครงการมอบรางรางวัลด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกขององค์การยูเนสโกนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่องบุคคลและองค์กรภาคเอกชน หรือโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการบูรณปฏิสังขรณ์อาคารและสิ่งก่อสร้างที่เป็น “มรดกอันทรงคุณค่า” ในภูมิภาค
รางวัลด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกขององค์การยูเนสโกปี 2021 มี 9 โครงการจาก 6 ประเทศ ได้รับรางวัลในประเภทต่าง ๆ จากคณะกรรมการตัดสิน ซึ่งในส่วนของรางวัล Award of Merit ปีนี้ มี 3 โครงการที่ได้รับรางวัล คือ บ้านขุนพิทักษ์รายา (ปัตตานี ประเทศไทย) มัสยิด Doleshwar Hanafia Jame (เมืองดาการ์ บังคลาเทศ) และวัด Thai Pak Koong (เมืองปีนัง มาเลเซีย)
คลิกดู รายนามโครงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ได้รับรางวัลจากยูเนสโกในปีนี้ ( 2021 UNESCO Asia-Pacific Awards for Cultural Heritage Conservation: Announcement of Winners) ที่นี่
ประเทศไทยได้ส่งโครงการอนุรักษ์เข้าร่วมประกวดรางวัลมาอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจาก โครงการอนุรักษ์บ้านขุนพิทักษ์รายา ปัตตานี แล้ว โครงการอนุรักษ์อื่นๆ ในประเทศไทยก็เคยได้รับรางวัลจากยูเนสโก มาก่อนหน้านี้ อาทิ โครงการอนุรักษ์สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับรางวัล Honourable Mention ปี พ.ศ.2551, โครงการอนุรักษ์ชุมชนอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับรางวัล Honourable Mention ปี พ.ศ.2548, โครงการอนุรักษ์พระราชวังเดิม กทม.ได้รับรางวัล Award of Merit ปี พ.ศ.2547 และรางวัลการอนุรักษ์วัดสระทอง จังหวัดขอนแก่น ได้รับรางวัล Award of Merit ปี พ.ศ.2545 และโครงการอนุรักษ์วัดปงสนุก จังหวัดลำปางได้รับรางวัล Award of Merit ปี พ.ศ.2551 เป็นต้น
ที่มา : UNESCO Bangkok
ข้อมูลอ้างอิง หนังสือประวัติศาสตร์ : บ้านขุนพิทักษ์รายา สำนักพิมพ์ Riverbooks