ติดเชื้อโอมิครอนเสี่ยงเข้าโรงพยาบาลน้อยกว่าเดลตา

01 ม.ค. 2565 | 03:19 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ม.ค. 2565 | 18:04 น.

สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพ (HSA) ของสหราชอาณาจักรเปิดเผยผลการวิจัยในวันศุกร์ (31 ธ.ค.) ว่า ประชาชนที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนนั้นมีแนวโน้มน้อยกว่าที่จะต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา

 

การระบาดโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทย มียอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้นต่อเนื่องกว่า1,000ราย  และประเมินว่า หลังผ่านช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่2565 จะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น  

 

 

ข้อมูลล่าสุดจาก HAS พบว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนมีความเสี่ยงที่จะต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า ผลวิจัยดังกล่าววิเคราะห์จากผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนจำนวน 528,000 ราย และผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาจำนวน 573,000 รายตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย.-26 ธ.ค.ในอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม นางซูซาน ฮอปกินส์ หัวหน้าที่ปรึกษาทางการแพทย์เตือนว่า ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปผลที่ชัดเจนเกี่ยวกับความรุนแรงของการเจ็บป่วยที่เกิดจากไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน

"การแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นของสายพันธุ์โอมิครอนและจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีในอังกฤษนั้น บ่งชี้ว่า ยังคงมีโอกาสสูงที่จะมีแรงกดดันอย่างมากต่อระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ของสหราชอาณาจักรในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า" นางฮอปกินส์กล่าว

ผลวิจัยใหม่ดังกล่าวในสหราชอาณาจักรยังพบว่า วัคซีนป้องกันโควิดช่วยลดความเสี่ยงของการรักษาตัวในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน แม้ว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นจะให้การป้องกันในระดับสูงสุด โดยข้อมูลล่าสุดเพิ่มหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าวัคซีนจะได้รับผลกระทบจากโอมิครอน แต่ก็ยังคงให้การปกป้องในระดับที่มีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน

ผลการวิจัยบ่งชี้ว่า วัคซีนโดสเดียวมีประสิทธิภาพ 52% ในการป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อไวรัสโอมิครอน ในขณะที่สองโดสมีประสิทธิภาพ 72% อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านไป 25 สัปดาห์ ประสิทธิภาพของวัคซีนสองโดสลดลงเหลือ 52% ในการป้องกันการเข้ารักษาอาการป่วยในโรงพยาบาล

ส่วนวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือบูสเตอร์นั้นช่วยเพิ่มการป้องกันอย่างมาก โดยหลังจาก 2 สัปดาห์ วัคซีนเข็มกระตุ้นจะมีประสิทธิภาพ 88% ในการป้องกันอาการป่วยหนักจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

ทั้งนี้ HSA สรุปในรายงานว่า "วัคซีนสามารถป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดีสำหรับผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน"