เจ็บแต่ไม่จุก เทสลาขาดทุนบิตคอยน์กว่า 100 ล้านดอลลาร์ ยังถืออีกราว 2 พันล้าน

08 ก.พ. 2565 | 23:54 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.พ. 2565 | 07:13 น.

หนึ่งในบริษัทที่เจ็บตัวจากมูลค่าบิตคอยน์ที่ลดลง คือ เทสลา ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของสหรัฐ ที่รายงานต่อ ก.ล.ต. สหรัฐวานนี้ (8 ก.พ.) ระบุบริษัทขาดทุนจากการลงทุนบิตคอยน์ในปีที่ผ่านมากว่า 100 ล้านดอลลาร์

เทสลา อิงค์. (Tesla Inc.) เปิดเผยรายงานประจำปีต่อ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC) วานนี้ (8 ก.พ.) ระบุว่า บริษัทขาดทุนจากการลงทุนใน บิตคอยน์ ไปเป็นมูลค่า 101 ล้านดอลลาร์ (กว่า 3,300 ล้านบาท)ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากมูลค่าของเหรียญดิจิทัลดังกล่าวปรับตัวลดลง

 

ทั้งนี้ เทสลาลงทุนในบิตคอยน์ไปราว 1,500 ล้านดอลลาร์ในช่วงต้นปี 2564 และได้ขายบิตคอยน์ที่ถืออยู่ออกไป 10% ในเวลาต่อมา

 

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า แม้เทสลา ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า จะยื่นรายงานประจำปีต่อ SEC ระบุขาดทุน 101 ล้านดอลลาร์จากการลงทุนบิตคอยน์แล้วมูลค่าลด แต่นั่นก็เป็นการขาดทุนทางบัญชีซึ่งไม่ส่งผลต่อสถานะการเงินโดยรวมของเทสลามากนัก โดยเทสลายังคงถือบิตคอยน์อยู่อีกราว 2,000 ล้านดอลลาร์ และยังได้กำไร 128 ล้านดอลลาร์จากการลงทุนในบิตคอยน์หลังขายไปบางส่วนในเดือน มี.ค.2564

 

ด้าน หุ้นเทสลา ซื้อขายเช้าวันจันทร์ (7 ก.พ.) ตามเวลาท้องถิ่นขยับขึ้น 2% แต่ปีนี้หุ้นผันผวนกว่า 10% แล้วหลังนักลงทุนเทขายหุ้นเทคโนโลยี หันไปหาภาคส่วนที่เน้นคุณค่ามากกว่า เช่น น้ำมัน ขณะที่ ราคาบิตคอยน์ ขยับตามราว 4% ไปอยู่ที่ระดับ 43,000 ดอลลาร์ แต่ราคาปีนี้ร่วงลงแล้วกว่า 7% และลดลงราว 40% จากที่เคยสูงสุดทุบสถิติเกือบ 69,000 ดอลลาร์ในเดือน พ.ย.2564

ฝ่ามรสุมข่าวเชิงลบ

นับตั้งแต่ต้นปีมา เทสลาต้องพบกับข่าวเชิงลบหลายครั้งด้วยกัน บางเรื่องสืบเนื่องมาจากปีที่ผ่านมา เช่นการที่บริษัทได้รับหมายเรียกจาก SEC กรณีที่ นายอีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัทได้โพสต์ข้อความลงบนทวิตเตอร์ ซึ่งส่งผลต่อมูลค่าหุ้นของบริษัท

อีลอน มัสก์

หมายเรียกดังกล่าวออกเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2564 ซึ่งเป็นเวลาราว 10 วันหลังจากที่นายมัสก์โพสต์ข้อความสอบถามผู้ที่ติดตามบัญชีทวิตเตอร์ของเขาว่า เขาควรขายหุ้น 10% ในเทสลาเพื่อนำเงินไปจ่ายภาษีหรือไม่ ซึ่งผลโหวตกว่า 3.5 ล้านเสียง หรือคิดเป็น 57.9% แนะนำให้เขาขายหุ้นเทสลาจำนวนดังกล่าว และในเวลาต่อมา นายมัสก์ก็ได้ขายหุ้นบริษัทเทสลาจริง ๆ มูลค่ารวมทั้งสิ้น 6,900 ล้านดอลลาร์ ณ ขณะนั้น ซึ่งโพสต์ของเขาได้ส่งผลให้เกิดแรงเทขายอย่างหนักในตลาดหุ้น       

 

รายงานข่าวระบุว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นายมัสก์ต้องเผชิญการลงดาบจากก.ล.ต. สหรัฐ โดยก่อนหน้านี้ในปี 2561 ทาง SEC ได้เคยยื่นฟ้องนายมัสก์และเทสลาฐานกระทำความผิดตามกฎหมายหลักทรัพย์ หลังจากที่นายมัสก์ได้ทวีตข้อความว่าเขากำลังพิจารณานำเทสลาออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่ระดับราคา 420 ดอลลาร์

ในเวลาต่อมาบริษัทเทสลาและนายมัสก์ได้ยุติคดีความกับ SEC ด้วยการยอมจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 20 ล้านดอลลาร์ และลงนามในข้อตกลงที่กำหนดว่า นายมัสก์จะต้องยุติบทบาทประธานคณะกรรมการบริหารของเทสลาเป็นการชั่วคราว และข้อความบนทวิตเตอร์ของเขาจะต้องได้รับการตรวจสอบจากทีมกฎหมายก่อนที่จะโพสต์สู่สาธารณะ

 

ไม่เพียงเท่านั้น ล่าสุดต้นสัปดาห์นี้ เทสลายังเผชิญข่าวฉาวที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของบริษัทโดยตรงกรณีปิดบังลูกค้า หลังบริษัทสั่งถอด ECU ซึ่งเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในแร็คพวงมาลัยหวังแก้ปัญหาชิปขาดแคลน

เทสลา Model3 ผลิตในจีน

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี สื่อใหญ่ของสหรัฐรายงานวานนี้ (7 ก.พ.) ว่า บริษัทเทสลา ได้ตัดสินใจถอดชุดควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ (ECU) 1 ใน 2 ชุดในแร็คพวงมาลัยของรถรุ่น Model 3 และ Model Y บางคันที่ผลิตในจีน เพื่อให้สามารถผลิตรถยนต์ได้ตามเป้าหมายยอดขายรถยนต์ในไตรมาสที่ 4/2564 ขณะที่ต้องรับมือกับปัญหาชิปขาดแคลนทั่วโลก

 

รายงานดังกล่าวอ้างคำบอกเล่าจากพนักงานเทสลา 2 คนและแหล่งข่าววงในว่า เทสลาไม่ได้เปิดเผยเรื่องการถอด ECU ดังกล่าว ซึ่งได้ถอดออกไปแล้วในรถนับหมื่นคันที่จัดส่งให้กับลูกค้าในจีน, ออสเตรเลีย, สหราชอาณาจักร, เยอรมนี และประเทศอื่น ๆ ในยุโรป

 

ข่าวระบุว่า เทสลาตัดสินใจไม่แจ้งเรื่องดังกล่าวให้ลูกค้าทราบ เนื่องจากมองว่า ECU ที่ถอดออกนั้น เป็นเพียงอุปกรณ์สำรองและไม่จำเป็นสำหรับการขับรถยนต์แบบอัตโนมัติระดับ 2 แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า เทสลา ได้ดำเนินการอย่างเดียวกันนี้กับรถที่ผลิตขึ้นในสหรัฐ หรือรถที่จัดส่งไปยังสหรัฐด้วยหรือไม่

 

ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา เทสลาดำเนินการได้ดีกว่าผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น ๆ ในการจัดการกับปัญหาห่วงโซ่อุปทาน โดยบริษัทใช้ชิปน้อยลงและเขียนซอฟต์แวร์ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

 

เทสลาคาดว่าจะเผชิญกับปัญหาชิปขาดแคลนต่อไปในปีนี้ก่อนจะคลี่คลายลงในปีหน้า โดยนายอีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลากล่าวในการเปิดเผยผลประกอบการประจำไตรมาส 4/2564 เมื่อเดือนที่แล้วว่า การขาดแคลนชิปไม่ใช่ปัญหาระยะยาว แต่ตอนนี้เป็นเพราะโรงงานต่าง ๆ เพิ่มกำลังการผลิตและผู้ผลิตรถยนต์แห่ซื้อชิปด้วยความตื่นตระหนก ซึ่งเป็นเหตุให้ห่วงโซ่อุปทานชะลอตัว