ญี่ปุ่นจ่อย้ายฐานจากเมียนมาเพิ่ม 1 ปีรัฐประหารยอดขายวูบ-อนาคตไม่แน่นอน

12 ก.พ. 2565 | 09:42 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2565 | 17:06 น.

บริษัทญี่ปุ่นในเมียนมากว่า 50% ระบุยังจะดำเนินกิจการในเมียนมาต่อไป ขณะ 6.7% จะย้ายไปประเทศที่สาม หลังครบ 1 ปีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ชี้อนาคตอาจย้ายฐานมากขึ้นหากยอดขายยังวูบ-สภาพแวดล้อมทางธุรกิจยังไม่ดีขึ้น

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต. / ทูตพาณิชย์) ณ กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา รายงานอ้างอิงข้อมูลจากสื่อของเมียนมาว่า ตามรายงานขององค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ระบุว่า บริษัทญี่ปุ่นประมาณ 70% ที่ลงทุนในเมียนมาจะยังคงดำเนินการและขยายกิจการในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในเวลา 1 ปีหรือ 2 ปี แม้จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมาในปีที่แล้วและการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19

 

ทั้งนี้รายงานจากการสำรวจของ JETRO (Japan External Trade Organization) ระบุว่าบริษัทญี่ปุ่นร้อยละ 52.3 จะดำเนินกิจการในเมียนมาต่อไป และร้อยละ 13.5 จะขยายการดำเนินงาน ขณะที่ร้อยละ 27.5% จะลดขนาดธุรกิจในประเทศเมียนมา และร้อยละ 6.7 จะถอนตัวออกจากประเทศเมียนมาหรือย้ายการดำเนินงานไปยังประเทศที่สาม

 

ภาพจาก infoquest.co.th

 

อย่างไรก็ตาม รายงานวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ระบุว่า หากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในเมียนมายังคงย่ำแย่ต่อไป นักลงทุนญี่ปุ่นจำนวนมากขึ้นอาจไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องลดการดำเนินงานหรือถอนตัว ทั้งนี้เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 องค์การสหประชาชาติ(UN) ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมืองและความมั่นคงในเมียนมาคาดว่า จะยังคงผันผวนในปี 2565 และการระบาดของโควิค-19 ระลอกที่ 4 เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนในเมียนมาค่อนข้างต่ำและการเกิดขึ้นของสายพันธุ์ใหม่ของโคโรนาไวรัสนั้นถือเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น โดยในเดือนตุลาคม 2564 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของเมียนมาจะหดตัว 17.9% ในปี 2564 และยังคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของเมียนมา (GDP) จะหดตัวร้อยละ 0.1 ในปี 2565

 

 

 

ในรายงานจากการสำรวจของ JETRO พบว่า 63.6% ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่า ผลกำไรจากการดำเนินงานในปี 2564 จะลดลงจากปีก่อนหน้า ในขณะที่ 27.8% คาดการณ์ว่า จะทำกำไรในระดับเดิม โดยเป็นผลสำรวจมาจากการตอบแบบสอบถามจำนวน 180 บริษัท จากจำนวนบริษัททั้งหมดที่ลงทุนในเมียนมา 433 บริษัท

 

ญี่ปุ่นจ่อย้ายฐานจากเมียนมาเพิ่ม 1 ปีรัฐประหารยอดขายวูบ-อนาคตไม่แน่นอน

 

สำหรับเหตุผลหลักของการย้ายบริษัทหรือถอนการดำเนินงานออกจากเมียนมาของบริษัทญี่ปุ่นนั้นกว่า ร้อยละ 68.4 มาจากยอดขายที่ลดลง และร้อยละ 50.9 จากการเติบโตและศักยภาพของประเทศที่ต่ำลง ขณะที่บางบริษัทให้เหตุผล เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เสื่อมโทรมจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอน และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตของประเทศ

 

ที่ผ่านมาบริษัทก่อสร้างหลายแห่งถูกระงับความช่วยเหลือด้านการพัฒนาอย่างเป็นทางการของญี่ปุ่น เพื่อตอบโต้การโค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตยของกองทัพเมียนมาที่นำโดยนางอองซาน ซูจี โดยหน่วยงานของ สหประชาชาติระบุว่า ประชาชนประมาณ 14.4 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรของประเทศจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เช่น อาหารและเวชภัณฑ์ในปี 2565

 

ขณะที่สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ  ระบุว่า ราคาอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือนที่สำคัญอื่น ๆ พุ่งสูงขึ้นหลัง การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมา และการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ทำให้สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมของประเทศเมียนมามีความเปราะบางอย่างมาก