โดนทั้งคู่  มูดี้ส์เตือนถ้ารัสเซียบุกยูเครน เจอหั่นเครดิตทั้งสองประเทศ

15 ก.พ. 2565 | 05:59 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.พ. 2565 | 13:21 น.

มูดี้ส์ฯ-ฟิทช์ เรทติ้งส์ เผยหากรัสเซียบุกยูเครนและโดนมาตรการคว่ำบาตรขั้นรุนแรงจากสหรัฐและชาติตะวันตก ก็จะโดนปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินลงมา รวมทั้งของยูเครนด้วย ขณะที่ชาติ G7 แท็กทีมกดดันรัสเซีย ถ้ากล้าบุก ก็จะเจอบทลงโทษทั้งด้านเศรษฐกิจและการเงิน

มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส คาดการณ์ว่า สถานการณ์ตึงเครียดระหว่าง รัสเซีย และ ยูเครน จะยังคงเป็นประเด็นร้อนที่น่ากังวล พร้อมกับเตือนว่า หากรัสเซียตัดสินใจบุกโจมตียูเครน ก็อาจกดดันให้มูดี้ส์ต้องปรับลดอันดับความน่าเชื่อของทั้งสองประเทศลงมา

 

นายอีแวน โวห์ลแมน รองประธานเจ้าหน้าที่ด้านเครดิตอาวุโสของมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิสกล่าวว่า การคว่ำบาตรด้านต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระเงินข้ามพรมแดนของรัสเซียนั้น จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลด้วยเช่นกัน

 

โดยแม้ว่ารัสเซียมีเงินทุนกันชนจำนวนมากที่จะช่วยลดผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ แต่สถานการณ์ในขณะนี้ยังคงไม่แน่นอน หากมาตรการคว่ำบาตรที่รัสเซียต้องเจอ อยู่ในขั้นที่รุนแรง ก็อาจทำให้รัสเซียผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรในต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้รัสเซียถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือในท้ายที่สุด

จุดแดงแสดงกองกำลังของรัสเซียที่มีอยู่รายรอบยูเครน (ณ 13 ก.พ. 2565)

ทั้งนี้ สำนักข่าวทาสส์ของรัสเซียรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้เตือนว่า หากรัสเซียถูก คว่ำบาตรในระดับรุนแรง อันเนื่องมาจากการตัดสินใจบุกยูเครน ก็อาจทำให้ฟิทช์ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลรัสเซียและธนาคารพาณิชย์ของรัสเซียด้วย

 

สถานการณ์ตึงเครียดของการเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงเป็นปัจจัยที่สร้างความกังวลให้กับตลาดการเงินทั่วโลก หลังมีรายงานว่ารัสเซียได้ระดมทหารกว่าแสนนายประจำการใกล้ชายแดนที่ติดกับยูเครน โดยแม้ว่ารัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหาจากชาติตะวันตกเกี่ยวกับแผนการบุกยูเครน แต่รัสเซียก็ขู่ว่าจะใช้ปฏิบัติการทางทหารเป็นการตอบโต้ หากชาติตะวันตกไม่ทำตามข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของรัสเซีย ซึ่งรวมถึงการไม่ให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกขององค์การป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต

 

ไม่เพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ประเทศต่าง ๆ ในฝั่งตะวันตกก็ขู่ว่าจะใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงกับรัสเซียเช่นกัน ถ้าหากรัสเซียตัดสินใจบุกยูเครน โดยเฉพาะประเทศสมาชิกกลุ่ม G7 ที่ออกโรงเตือนเมื่อวันจันทร์ (14 ก.พ.)ว่า จะใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการเงินและเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หากรัสเซียดึงดันที่จะใช้ปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครน

โดนทั้งคู่  มูดี้ส์เตือนถ้ารัสเซียบุกยูเครน เจอหั่นเครดิตทั้งสองประเทศ

ทั้งนี้ รัฐมนตรีกลุ่ม G7 ระบุในแถลงการณ์ว่า การเสริมกำลังทหารของรัสเซียบริเวณพื้นที่ชายแดนที่ติดกับยูเครนนั้นสร้างความกังวลอย่างมาก และทั้ง 7 ประเทศซึ่งได้แก่ อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา จะร่วมกันแก้ปัญหาเพื่อปกป้องอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของยูเครน

 

รัฐมนตรีกลุ่ม G7 ระบุว่า การส่งเสริมความพยายามในการบรรเทาความตึงเครียดเป็นความสำคัญลำดับแรก และเตือนว่า กลุ่มประเทศ G7 พร้อมที่จะร่วมกันดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลและในทันทีต่อเศรษฐกิจของรัสเซีย

 

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า คำเตือนดังกล่าวมีขึ้นหลังจากไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ในการคลี่คลายสถานการณ์ จากการเจรจาทางโทรศัพท์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (12 ก.พ.) ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย

 

ด้านนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวในระหว่างการประชุมพรรคเสรีประชาธิปไตยเมื่อวันจันทร์ (14 ก.พ.) ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังประสานงานร่วมกับสหรัฐและกลุ่มประเทศยุโรปเกี่ยวกับมาตรการคว่ำบาตรที่อาจเกิดขึ้นกับรัสเซีย

 

ก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นได้ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการอย่างแข็งขัน โดยประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสหรัฐและประเทศอื่น ๆ หากรัสเซียบุกโจมตียูเครน แต่หลังจากนั้นก็ยังไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดของมาตรการคว่ำบาตรว่าญี่ปุ่นจะลงโทษรัสเซียอย่างไรบ้างจนถึงขณะนี้

ปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย

สำหรับมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเงินที่รัสเซียอาจต้องเผชิญนั้น มีความเป็นไปได้หลายประการ ดังที่เราเคยประมวลนำเสนอไปแล้ว อาทิ

 

เทคโนโลยี

ทำเนียบขาวกำลังพิจารณามาตรการควบคุมการส่งออกต่อรัสเซีย ซึ่งจะส่งผลให้มีการจำกัดความสามารถของรัสเซียในการจัดซื้อวงจรรวม หรือ integrated circuit (IC) ที่จำเป็นสำหรับภาคการพัฒนาและผลิตเทคโนโลยีมากมาย อาทิ โทรศัพท์สมาร์ทโฟน โทรทัศน์ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กับเครื่องบิน และเครื่องมือจักรกลต่างๆ หากมีการดำเนินมาตรการจำกัดการส่งออกจริง รัสเซียอาจตกไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่เผชิญนโยบายควบคุมการส่งออกเข้มงวดที่สุด เช่นเดียวกับ คิวบา อิหร่าน เกาหลีเหนือ และซีเรีย ในอดีตสหรัฐเคยดำเนินมาตรการคล้ายๆ กันนี้ต่อรัสเซียมาแล้วระหว่างช่วงสงครามเย็น เพื่อจำกัดความสามารถของรัสเซียในการเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ

 

ธุรกิจธนาคาร

พันธมิตรชาติตะวันตกได้ดำเนินมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อธนาคารที่รัฐบาลรัสเซียเป็นเจ้าของอยู่แล้วหลังกรุงมอสโกประกาศผนวกคาบสมุทรไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตนเมื่อปี ค.ศ. 2014 (พ.ศ.2557) แต่ในครั้งนี้ รัฐบาลชาติตะวันตกอาจยกระดับความเข้มข้นของมาตรการที่มีอยู่แล้วให้สูงขึ้นไปอีก ด้วยการเพิ่มชื่อสถาบันการเงินอื่นๆ เช่น ธนาคารเอกชนบางแห่งของรัสเซีย ขณะที่อาจมีการพุ่งเป้าการดำเนินมาตรการนี้ไปยังกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติรัสเซีย (Russian Direct Investment Fund) ที่มีรัฐบาลหนุนหลังและเป็นหน่วยงานที่ลงทุนในบริษัทชั้นนำต่างๆ ของประเทศอยู่

 

ก๊าซธรรมชาติ

มีรายงานว่า ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ นอร์ดสตรีม 2 (Nord Stream 2) ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จเมื่อไม่นานมานี้และเชื่อมต่อรัสเซียกับเยอรมนี คือ หนึ่งในเป้าหมายของการดำเนินมาตรการลงโทษต่อรัสเซีย โดยท่อส่งดังกล่าวยังรอการอนุมัติขั้นสุดท้ายจากเยอรมนีอยู่ และรัฐบาลกรุงเบอร์ลินก็ถูกกดดันอย่างหนักให้ปฏิเสธคำขออนุมัตินี้ ทางการเยอรมนีระบุว่า อาจจะพิจารณาไม่อนุมัติท่อนอร์ด สตรีม 2 แต่ความเป็นจริงก็คือ การที่ยุโรปนั้นพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียมากพอสมควร นั่นจึงเป็นเหตุผลที่อาจบีบเยอรมนีให้ไม่กล้าทำอย่างที่ปากว่าไว้ก็เป็นได้ (อ่านเพิ่มเติม: ทำความรู้จักโครงการ Nord Stream 2 สำคัญไฉนในวิกฤตยูเครน

 

ระบบ SWIFT

หนึ่งในแผนการของสหรัฐและอียูที่คาดว่า จะมีความหนักหน่วงในการลงโทษรัสเซียมากที่สุด ก็คือ การตัดกรุงมอสโกออกจาก ระบบ SWIFT ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินระหว่างประเทศแบบหนึ่งที่ธนาคารทั้งหลายใช้งานอย่างกว้างขวางทั่วโลก หากการลงโทษรอบใหม่มีการขยายผลไปถึงระบบนี้จริง สิ่งที่รัสเซียจะประสบก็คือ การที่จะไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินข้ามประเทศกับสถาบันการเงินส่วนใหญ่ได้ อันรวมถึง การที่จะไม่สามารถเข้าถึงกำไรจากการผลิตก๊าซและน้ำมันในต่างประเทศด้วย

 

สกุลเงินดอลลาร์

มาตรการลงโทษอีกแบบที่อาจมีการหยิบยกขึ้นมาใช้กับรัสเซียก็คือ การปิดกั้นไม่ให้มอสโกเข้าถึงเงินสกุลดอลลาร์ได้ ซึ่งหากรัสเซียไม่สามารถเข้าถึงระบบการเงินการธนาคารของสหรัฐได้จริง บริษัทสัญชาติรัสเซียทั้งหลายก็จะไม่สามารถทำธุรกรรมต่างๆ ดังปกติได้เลย ทั้งนี้ สหรัฐอาจตัดสินใจดำเนินมาตรการนี้เพียงลำพัง โดยไม่ต้องรอการอนุมัติจากประเทศอื่นๆ ไม่เหมือนกับกรณีระบบ SWIFT โดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า สหรัฐกำลังศึกษาทางเลือกนี้อยู่ด้วย

 

พันธบัตร

ในเวลานี้ สหรัฐได้มีคำสั่งห้ามสถาบันการเงินในประเทศซื้อพันธบัตรรัฐบาลรัสเซียจากสถาบันการเงินของรัฐโดยตรงอยู่แล้ว โดยปธน.ไบเดน ลงนามคำสั่งดังกล่าวหลังมีการกล่าวหาว่า รัสเซียเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งในสหรัฐ และหากจะมีการยกระดับมาตรการนี้ ก็น่าจะเป็นการสั่งห้ามซื้อขายพันธบัตรรัสเซียในตลาดรองต่อไป

 

บุคคลที่เกี่ยวข้อง

โดยปกติ รัฐบาลต่างๆ มักพุ่งเป้าการลงโทษไปยังบุคคลบางกลุ่ม ด้วยการสั่งห้ามการเดินทาง หรือห้ามไม่ให้ถือครองสินทรัพย์ในต่างประเทศ สำนักข่าว เอพี รายงานโดยอ้างข้อมูลจากสำนักงานควบคุมสินทรัพย์ต่างประเทศ (Office of Foreign Assets Control) ว่า มีชาวรัสเซีย 735 คน ที่ยังคงถูกสหรัฐลงโทษจากกรณีการผนวกคาบสมุทรไครเมีย และในครั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐและอังกฤษ ก็ได้ขู่ว่าจะขยายบทลงโทษนี้ไปยังกลุ่มอภิสิทธิ์ชนทั้งหลายของกรุงมอสโก หากรัสเซียบุกยูเครนขึ้นมาจริง ๆ  โดยหนึ่งในบุคคลเป้าหมายที่สมาชิกรัฐสภาสหรัฐชี้ให้รัฐบาลปธน.ไบเดนดำเนินการลงโทษก็คือ อลินา คาบาเอวา อดีตนักกีฬายิมนาสติกลีลาใหม่เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก ซึ่งมีข่าวว่าเป็นแฟนสาวของปธน.ปูติน

 

นอกจากนี้ ปธน.วลาดิเมียร์ ปูตินผู้นำรัสเซียเอง ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายการดำเนินมาตรการลงโทษของบรรดาสมาชิกรัฐสภาสหรัฐ ซึ่งปธน.ไบเดน ตอบว่า เขาจะพิจารณาข้อเสนอนี้ด้วย (อ่านเพิ่มเติม: ถ้าบุกยูเครน รัสเซียต้องเจอ "บทลงโทษ" อะไรบ้าง)