ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลก อาจแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 8,100 ริงกิต/ตัน (1,938 ดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ หลังจากที่ สต็อกน้ำมันสำหรับบริโภคในตลาดโลก และการส่งออกลดลง รวมถึงผลกระทบจาก สงครามในยูเครน
นายเจมส์ ฟราย ประธานของแอลเอ็มซี อินเตอร์เนชั่นแนล (LMC International) บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจการเกษตร คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันปาล์มดิบในมาเลเซียจะอยู่ที่ 6,600-8,100 ริงกิต/ตัน ไปจนถึงเดือน ก.ค. ก่อนจะปรับลดลงสู่ระดับ 6,200-7,000 ริงกิตในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นช่วงที่อุปทานเริ่มฟื้นตัว และความต้องการในตลาดลดลง
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังเตือนว่าการส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันจากแถบทะเลดำ ราว 60% หรือ 8 ล้านตัน อาจล่าช้ากว่าปกติหลังจากที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า สัญญาซื้อขายน้ำมันปาล์มส่งมอบเดือนพ.ค. ในตลาดอนุพันธ์มาเลเซีย ซื้อขายอยู่ที่ 6,622 ริงกิต/ตัน (1,583 ดอลลาร์สหรัฐ ) เมื่อวันพุธ (9 มี.ค.) ซึ่งเป็นราคาที่เพิ่มขึ้น 38% นับจากต้นปีนี้
ทางด้านอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มรายสำคัญอันดับหนึ่งของโลก จ่อจำกัดส่งออกน้ำมันปาล์มหวังคุมราคาในประเทศไม่ให้พุ่งแรง โดยนายมูฮัมหมัด ลัตฟี รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์อินโดนีเซีย เปิดเผยวานนี้ (9 มี.ค.) ว่า อินโดนีเซียมีแผนจะจำกัดการส่งออกน้ำมันปาล์ม เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค.นี้ เป็นต้นไป เพื่อเพิ่มซัพพลายในประเทศ และควบคุมราคาน้ำมันประกอบอาหารที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก เตรียมออกคำสั่งให้บริษัทต่าง ๆ ต้องจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มโอลีน 30% ภายในประเทศ เพิ่มจากสัดส่วนเดิมที่ระดับ 20% โดยเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายข้อบังคับตลาดในประเทศ (DMO) และคำสั่งดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้อย่างน้อย 6 เดือน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การยกระดับนโยบายครั้งนี้จะทำให้ซัพพลายน้ำมันพืชในตลาดโลกยิ่งลดน้อยลง หลังจากที่ต้องเผชิญกับปัญหาซัพพลายขาดแคลนจากการที่รัสเซียรุกรานยูเครน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันรายใหญ่ของโลก
เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา อินโดนีเซียจำกัดการส่งออกน้ำมันปาล์มหลังราคาน้ำมันประกอบอาหารพุ่งขึ้นกว่า 40% ในช่วงต้นปี 2565 ตามทิศทางราคาน้ำมันพืชทั่วโลก
ข้อมูลอ้างอิง
Palm oil prices set for new record highs in coming months -analyst Fry