นายเยฟกินี โทมิคิน เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย แถลงวานนี้ (15 มี.ค.) แสดงความชื่นชมรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีจุดยืนที่เป็นกลางต่อ สถานการณ์ในยูเครน แม้ รัฐบาลไทย ลงมติในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประณามการที่ รัสเซีย ใช้กำลังทหารบุกโจมตียูเครนก็ตาม
"เราขอชื่นชมท่าทีที่เป็นกลางของรัฐบาลไทย โดยเรามีการหารือกับกระทรวงการต่างประเทศของไทย และเราชื่นชมการที่ไทยพร้อมที่จะรับฟังในสิ่งที่เราพูด โดยไทยถือเป็นหุ้นส่วนในระยะยาวและเชื่อถือได้ เราไม่เคยมีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกัน" นายโทมิคินกล่าว
นายโทมิคินยังระบุว่า เอกอัครราชทูตจาก 25 ชาติในยุโรปเดินทางไปยังกระทรวงการต่างประเทศของไทยในเดือนที่แล้ว แต่ก็ไม่สามารถกดดันรัฐบาลไทยได้
ขณะเดียวกัน นายโทมิคินกล่าวว่า รัสเซียไม่มีทางเลือก หลังจากที่กองทัพยูเครนได้ทำการโจมตีภูมิภาคดอนบาส ทำให้รัสเซียต้องใช้ปฏิบัติการพิเศษทางทหารเพื่อยุติสงครามในยูเครน ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อ 8 ปีที่แล้ว
นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตรัสเซียระบุว่า กองทัพรัสเซียไม่ได้โจมตีเป้าหมายพลเรือนในยูเครน แต่จะมุ่งทำลายโครงสร้างพื้นฐานทางทหาร อย่างไรก็ตาม นายโทมิคินยอมรับว่า เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ว่ารัสเซียจะยุติปฏิบัติการทางทหารในยูเครนเมื่อใด เนื่องจากทหารยูเครนพยายามใช้พลเรือนเป็นเกราะกำบัง
ต่อคำถามที่ว่า สงครามครั้งนี้จะบานปลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่ ทูตรัสเซียย้ำว่า ไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์ไปไกลถึงขนาดสงครามโลกครั้งที่ 3 ประธานาธิบดีสหรัฐ ผู้นำตะวันตก แม้แต่ประธานาธิบดีรัสเซียล้วนเข้าใจดีว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 คือสงครามโลกครั้งสุดท้ายสำหรับมวลมนุษยชาติ จุดยืนของรัสเซียคือต้องการยุติสงครามให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ สงครามครั้งนี้ไม่ได้เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 24 ก.พ. แต่เริ่มขึ้นเมื่อแปดปีก่อนเป็นอย่างน้อย เมื่อรัฐบาลเคียฟยิงถล่มภูมิภาคดอนบาส แนวทางของรัสเซียคือใช้ความพยายามสูงสุดเพื่อยุติสงครามโดยเร็วที่สุด
“ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้การไม่เพิ่มความปั่นป่วนย่อมสำคัญยิ่ง อย่าเพิ่มความขัดแย้ง แต่ข่าวจากโลกตะวันตกที่เราเห็นทุกวันคือพวกเขามีแต่จัดหาอาวุธให้ยูเครนเพิ่มขึ้น”
ทั้งนี้ รัสเซียเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครนว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” มาโดยตลอดขณะที่คนอื่นๆ เรียก “สงคราม” ท่านทูตโทมิคินอธิบายถึงความแตกต่างว่า ตอนที่สหรัฐเข้าไปในอัฟกานิสถานก็ไม่ได้ประกาศสงคราม ยูเครนพูดถึงสงครามแต่ไม่เคยประกาศสงครามกับรัสเซีย เป้าประสงค์หลักของปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้ของรัสเซียคือทำลายโครงสร้างพื้นฐานทางทหารเพื่อทำให้ยูเครนเป็นกลาง ไม่เหมือนนาโตที่ใช้ยูเครนเป็นสปริงบอร์ดเข้าหารัสเซีย
"ผมจึงไม่คิดว่านี่คือสงคราม ประธานาธิบดีปูตินและรัฐมนตรีกลาโหมก็ย้ำมาตลอดว่าทำไมถึงเรียกว่า ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร”
กรณีนักท่องเที่ยวรัสเซียที่ติดอยู่ในประเทศไทย ทูตกล่าวขอบคุณรัฐบาลไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยว ทางการท้องถิ่น และสมาคมท่องเที่ยวที่ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวรัสเซีย สถานทูตประสานหน่วยงานทั้งของไทยและรัสเซียจัดหาเที่ยวบินและรวบรวมข้อมูลเพื่อต่อวีซาให้อยู่ในไทยได้ต่อไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวเกี่ยวกับท่าทีของไทยต่อสถานการณ์ในยูเครนในภาพใหญ่ไว้ ดังนี้
1) นโยบายต่างประเทศของทุกประเทศและท่าทีต่อสถานการณ์สำคัญในโลก จำเป็นต้องคำนึงถึงบริบทเฉพาะของแต่ละประเทศ หลักการและกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งประมวลความสัมพันธ์ในภาพใหญ่ และประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศด้วย ในส่วนของไทยก็ไม่ต่างจากประเทศอื่น
2) ในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของไทย ตั้งอยู่บนหลักการตามกฎบัตรสหประชาชาติ และกฎหมายระหว่างประเทศ และแทนที่จะเน้นการชี้นิ้วประณาม ไทยให้ความสำคัญกับการช่วยหาทางออกด้วยวิธีการทางการทูตด้วยความเสมอต้นเสมอปลาย การลงคะแนนเสียงในกรอบสหประชาชาติเป็นการใช้หลักสากล ไทยเห็นว่า การตีความภารกิจของรัฐ (state affairs) ในทุกเรื่องจึงจำเป็นต้องมีความลึกซึ้งและมองภาพใหญ่เป็น มอง 360 องศาได้อย่างชัดเจน
3) ในกรอบสหประชาชาติ ถ้อยแถลงและการลงคะแนนเสียงของประเทศไทยในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 11 (11th Emergency Special Session of the United Nations General Assembly) เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2565 มีหลักการและเหตุผลที่ชัดเจน โดยไทยลงคะแนนเสียงสนับสนุนข้อมติที่เรียกร้องให้รัสเซียยุติการใช้กำลังและถอนกองกำลังออกจากยูเครนทันที ตามหลักการสนับสนุนสันติวิธี และกฎหมายระหว่างประเทศเช่นเดียวกับประเทศที่เคารพกฎหมายอื่น ๆ รวมทั้งประเทศเล็ก ๆ ที่ต่างยึดถือหลักการนี้ ไทยได้สนับสนุนการหาทางออก การเจรจาเพื่อยุติปัญหา และสนับสนุนการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำหรับผู้ที่ถูกกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง ซึ่งไทยได้เริ่มดำเนินการแล้ว โดยกระทรวงการต่างประเทศอนุมัติงบประมาณให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ยูเครน 2 ล้านบาท โดยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ดำเนินการจัดซื้อสิ่งของเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและพร้อมส่งมอบให้แก่ประชาชนในพื้นที่ผ่านสภากาชาดยูเครนแล้ว เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565
4) นอกจากนี้ ในกรอบอาเซียนไทยสนับสนุนการออกถ้อยแถลงในฐานะประเทศสมาชิกจำนวน 2 ฉบับ แสดงความห่วงกังวลต่อสภาวการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายลง และเรียกร้องให้มีการหยุดยิงในทันทีหรือสงบศึก รวมทั้งให้มีการหารือทางการเมืองต่อไปซึ่งจะนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืนในยูเครน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเจรจาเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ในปัจจุบัน และหลีกเลี่ยงการเพิ่มความทุกข์ยากของประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยอาเซียนพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกการหารือโดยสันติระหว่างทุกฝ่ายในทุกวิถีทางที่เป็นไปได้