รัสเซีย ประกาศถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิก สภายุโรป (Council of Europe) แล้ววานนี้ (15 มี.ค.) หลังมีเสียงเรียกร้องจากชาติสมาชิกให้ขับรัสเซียออก จากการที่รัสเซียเปิดฉากปฏิบัติการพิเศษใช้กำลังทางทหารบุกเข้าโจมตี ยูเครน โดยกระทรวงต่างประเทศรัสเซียระบุว่าได้แจ้งถึงการลาออกของรัสเซียให้เลขาธิการสภายุโรปทราบแล้ว
การตัดสินใจดังกล่าวถือเป็นการสิ้นสุดการเป็นสมาชิกสภายุโรปของรัสเซียที่เป็นมานานกว่า 25 ปี องค์กรดังกล่าวนี้เป็นองค์การระหว่างรัฐบาลระดับภูมิภาค ทำหน้าที่ส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และหลักนิติธรรม มีประเทศหรือดินแดนที่เป็นสมาชิก 47 ประเทศ มีประชากรรวมมากกว่า 820 ล้านคน ทั้งนี้ ส่วนที่รู้จักกันดีที่สุดของสภายุโรป คือ ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียเปิดเผยว่า รัสเซียได้ยื่นจดหมายถอนตัวจากสมาชิกสภายุโรปอย่างเป็นทางการต่อนางมารียา เปจจิโนวิช บูริช เลขาธิการสภายุโรป เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (15 มี.ค.) "ชาติสมาชิกนาโต (องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ) และสหภาพยุโรป (อียู) ใช้อำนาจจากเสียงข้างมากในสภายุโรปในทางที่ผิด โดยทำให้องค์การนาโตกลายเป็นเครื่องมือของนโยบายต่อต้านรัสเซีย อีกทั้งยังปฏิเสธการเจรจาอย่างเสมอภาค และปฏิเสธหลักการทั้งหมดของโครงสร้างขบวนการรวมกลุ่มยุโรป" แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียระบุถึงเหตุผลของการลาออก
อย่างไรก็ตาม รัสเซียยังคงเปิดกว้างต่อการมีปฏิสัมพันธ์กับชาติสมาชิกของสภายุโรปอย่างเท่าเทียมกัน บนพื้นฐานของผลประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย
รัสเซียสมัครเข้าเป็นสมาชิกสภายุโรปในปี 1996 (พ.ศ.2539) ในฐานะชาติสมาชิกรายที่ 39 การลาออกครั้งนี้ เท่ากับว่ารัสเซียจะไม่ใช่ประเทศที่ให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปอีกต่อไป และพลเมืองของรัสเซียจะไม่สามารถยื่นคำร้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (ECHR) ได้อีก ซึ่งเรื่องนี้นักวิเคราะห์มองว่า จะเป็นการเปิดทางให้รัสเซียสามารถกลับไปใช้โทษประหารชีวิตได้อีกครั้ง
“รัสเซียไม่เสียใจกับการออกมาจากสภายุโรป ที่รัสเซียได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 1996” กระทรวงต่างประเทศรัสเซียโพสต์ข้อความในแอปฯเทเลแกรมว่า การลาออกครั้งนี้จะไม่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองรัสเซีย และการดำเนินการตามมติที่รับรองแล้วของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (The European Court of Human Rights) หรือ ECHR จะดำเนินต่อไป หากไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของรัสเซีย
ทั้งนี้ การลาออกจากสภายุโรปของรัสเซียถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสำหรับ ECHR ซึ่งทำหน้าที่เป็นศาลชั้นต้นเมื่อการดำเนินการภายในประเทศหมดหนทางลง โดยคดีเกี่ยวกับพลเมืองรัสเซียใน ECHR มีสัดส่วนถึง 24% ของคดีที่มีในปัจจุบัน อาทิ คดีของนายเอล็กเซ นาวัลนี ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวหน้าของรัสเซีย ที่เคยถูกจับกุมหลายครั้งหลังดำเนินกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลรัสเซียและท้าทายอำนาจปธน.ปูติน
สำหรับ 47 ประเทศที่เป็นสมาชิกสภายุโรป นั้น(รวมรัสเซีย) ประกอบด้วย