ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกาได้ออกมากล่าวหาและประณามว่า ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เป็น อาชญากรสงคราม (war criminal) หลัง กองทัพรัสเซีย รุกหนักเข้าโจมตีทางอากาศที่โรงพยาบาลผดุงครรภ์ใน ยูเครน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การจะระบุว่า ใครเป็น "อาชญากรสงคราม" ได้นั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะหยิบยกขึ้นมากล่าวกันได้ง่ายๆ เพราะการจะทำเช่นนั้นได้ ต้องมีกระบวนการตัดสินและคำนิยามที่ชัดเจนว่า ผู้ใดพึงถูกกล่าวหาและถูกลงโทษด้วยข้อหาอาชญากรสงคราม
เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว ออกมาชี้แจงภายหลังจากที่ประธานาธิบดีไบเดนเอ่ยปากใช้คำนี้เรียกขานผู้นำรัสเซียว่า ปธน.ไบเดนใช้ความรู้สึกจากใจพูดออกมา และย้ำว่า ถึงอย่างไรก็จะต้องมีกระบวนการทางกฎหมายเพื่อพิจารณาและตัดสินก่อนที่จะใช้คำนี้ได้อย่างเป็นทางการ
“อาชญากรสงคราม” ใช้ได้เมื่อไหร่ กับใคร
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า คำว่า อาชญากรสงคราม หรือ war criminal นั้นหมายถึง ผู้ใดก็ตามที่ละเมิดกฎหมายความขัดแย้งทางอาวุธ (the law of armed conflict) ซึ่งกฎเหล่านี้ได้รับการยอมรับโดยผู้นำทั่วโลก และประเทศต่างๆยังใช้เป็นข้อปฏิบัติในยามสงครามอีกด้วย
ทั้งนี้ กฎข้างต้นระบุชัดเจนถึงประเภทของอาวุธที่สามารถใช้ในการทำสงครามและกลุ่มบุคคลที่ร่วมต่อสู้ได้
อย่างไรก็ตาม พื้นฐานของกฎถูกปรับแก้และขยายให้ครอบคลุมสิ่งต่างๆมากขึ้นในศตวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังการทำ “อนุสัญญาเจนีวา” เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ที่มีการห้ามการใช้อาวุธทางเคมีชีวภาพในการทำสงคราม
จุดประสงค์หลักของกฎเหล่านี้ คือ การป้องกันผู้บริสุทธิ์ที่ไม่มีส่วนร่วมในสงครามและผู้ที่ไม่สามารถทำสงครามต่อไปได้ โดยบุคคลในกลุ่มนี้รวมถึง แพทย์ พยาบาล ทหารที่ได้รับบาดเจ็บ เชลยศึก
ต้องทำผิดอย่างไรจึงจะเข้าข่ายอาชญากรสงคราม
การกระทำผิดที่เข้าข่ายการทำอาชญากรรมสงครามจะต้องเป็นการละเมิดกฎขั้นร้ายแรง (grave breaches) ซึ่งรวมถึง การฆ่าโดยตั้งใจและทำลายล้างพื้นที่เป็นวงกว้างเกินความจำเป็นทางทหาร การโจมตีผู้บริสุทธิ์ การใช้กำลังที่เกินควร การใช้มนุษย์เพื่อเป็นโล่ป้องกันจากข้าศึก (human shields) และการจับตัวประกัน
ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court) หรือ ICC จะดำเนินคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติเมื่อบริบทสงครามอยู่ในรูปแบบ “การโจมตีผู้บริสุทธิ์ในวงกว้างอย่างเป็นระบบ” เช่น การฆาตกรรม การทรมาน การข่มขืน และการบังคับให้เป็นทาสกามารมณ์ (sexual slavery)
สำนักข่าวเอพีชี้ว่า โอกาสที่นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียจะเข้าข่ายเป็น “อาชกรสงคราม” ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานการเป็นผู้รับผิดชอบในการบังคับบัญชาการก่ออาชญากรรมสงครามมามัดตัว เพราะหากผู้บังคับบัญชาสั่ง รับทราบ หรือ รู้เห็นการทำอาชญากรรมข้างต้นแต่ไม่มีการกระทำใดๆ เพื่อจะหยุดยั้งสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ผู้นั้นจะถือว่า มีความผิดตามกฎหมาย
นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (17 มี.ค.)ว่า ขณะนี้ สหรัฐกำลังทำการประเมินและ “รวบรวมหลักฐาน” การก่ออาชญากรรมสงครามของรัสเซีย โดยเฉพาะการตั้งเป้าโจมตีประชาชนผู้บริสุทธิ์ พร้อมยืนยันว่า รัสเซียจะต้องเผชิญกับ “ผลลัพธ์ที่สาหัส” กับการกระทำใดๆ ที่เข้าข่ายอาชญกรรมดังกล่าว
หนทางสู่ความยุติธรรมต้องดำเนินการเช่นไร
โดยทั่วไปแล้ว การสืบสวนและตัดสินคดีอาชญากรสงครามมี 4 วิธี ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อจำกัดอยู่
ถ้าจะนำปูตินขึ้นพิจารณาคดีข้อหาอาชญากรสงคราม จะทำได้ที่ไหน
จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า การดำเนินคดีดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ โดยส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะ รัสเซียไม่ได้ยอมรับอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) และจะไม่ยอมส่งผู้ต้องสงสัยคนใดไปยังกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นอันขาด ซึ่งเป็นเงื่อนไขเดียวกับของสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่ได้ยอมรับอำนาจศาลแห่งนี้เช่นกัน
และหากจะมีการดำเนินคดีว่าด้วยอาชญากรรมสงครามต่อผู้นำรัสเซียขึ้นมาจริง กระบวนการศาลอาจมีขึ้นในประเทศที่องค์การสหประชาชาติ หรือกลุ่มประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยเลือกให้ แต่จุดที่ยากในเรื่องนี้ก็คือ จะทำอย่างไรให้ผู้นำรัสเซียเดินทางไปร่วมการไต่สวนต่างหาก แค่คิดก็ยากแล้ว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สหรัฐและอีก 44 ประเทศได้ร่วมกันเริ่มการสืบสวนการกระทำที่เข้าข่ายความผิดร้ายแรงและการละเมิดกฎหมายความขัดแย้งทางอาวุธของผู้นำรัสเซียแล้ว หลังคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC) ได้ผ่านการลงคะแนนให้ตั้งคณะกรรมาธิการไต่สวนขึ้น (a commission of inquiry)
ในอดีตเคยมีผู้นำคนใดเคยถูกตัดสินเป็นอาชญากรสงครามบ้าง
ย้อนกลับไปมองเหตุการณ์ในอดีต ดูประวัติศาสตร์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะพบว่า มีผู้นำคนหลายคนที่เคยถูกตัดสินเป็นอาชญากรสงครามมาบ้างแล้ว อาทิ
ข้อมูลอ้างอิง
EXPLAINER: Who’s a war criminal, and who gets to decide?