เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (27 เม.ย.) ผู้นำรัสเซีย ประกาศลั่นว่า ประเทศใดก็ตามที่พยายามจะเข้าไปแทรกแซงการทำสงครามในยูเครน จะต้องเผชิญกับการตอบโต้ที่รวดเร็วราวปานสายฟ้าฟาดจากรัสเซีย ดูเหมือนว่า เยอรมนี จะเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกสายฟ้าฟาดแรงแล้วในเวลานี้ โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งเยอรมนี เผยว่า ราคาน้ำมัน ที่สถานีบริการน้ำมันในเยอรมนี ปรับตัวขึ้นเร็วเป็นประวัติการณ์ในเดือนมีนาคม คิดเป็นอัตรารวดเร็วกว่าช่วงที่เยอรมนีเผชิญวิกฤตน้ำมันสองครั้ง และวิกฤตตลาดการเงินอีกหนึ่งครั้ง
ราคาน้ำมันเบนซินพรีเมียมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 41.9% เมื่อเทียบปีต่อปี ราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 62.6% และน้ำมันเตาชนิดเบามีราคาแพงกว่าเดิมเกือบ 2.5 เท่า
ที่ผ่านมา เยอรมนีพบเจอสถานการณ์เช่นนี้แค่กับช่วงวิกฤตน้ำมัน 2 ครั้งในปี 1974 และ 1980 รวมถึงวิกฤตตลาดการเงินและเศรษฐกิจในปี 2008 /2009 ทว่าอัตราการเพิ่มเมื่อเทียบปีต่อปีของราคาน้ำมันอุปโภคบริโภค ไม่เคยพุ่งสูงกว่าระดับเดือนมีนาคม 2022 มาก่อน
สโมสรยานยนต์เยอรมนี เผยว่า ราคาเฉลี่ยของน้ำมันอี10 (E10) แบบมาตรฐาน เพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 2.19 ยูโร (ราว 80.3 บาท) ต่อลิตร เมื่อกลางเดือนมีนาคม ส่วนราคาน้ำมันดีเซลสูงถึง 2.29 ยูโร (ราว 84 บาท)
สถิติในอดีตชี้ว่า เยอรมนีพบราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวขึ้นสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 1974 ซึ่งเพิ่มขึ้น 32.5% เมื่อเทียบปีต่อปี ขณะน้ำมันเตาชนิดเบาดีดตัวในอัตราสูงกว่านั้น โดยผู้บริโภคภาคเอกชนต้องจ่ายเงินเพิ่มถึง 183.3% ในเดือนธันวาคม 1973 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้านั้น
การศึกษาจากองค์กรสิ่งแวดล้อมกรีนพีซ (Greenpeace) เปิดเผยว่า ในปีนี้ (2022) เยอรมนีจะต้องจ่ายเงินซื้อพลังงานนำเข้าจากรัสเซียในราคาเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 60% เมื่อเทียบกับปีก่อน(2021) โดยยอดชำระเงินคาดการณ์โดยรวมจะสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 32,000 ล้านยูโร (ราว 1.16 ล้านล้านบาท)
ทั้งนี้ กรีนพีซคาดการณ์ว่ายอดชำระเงินซื้อน้ำมันรัสเซียของเยอรมนีจะเพิ่มขึ้น 25% แตะที่ 14,200 ล้านยูโร (ราว 5.18 แสนล้านบาท) ขณะยอดชำระเงินซื้อก๊าซากรัสเซียอาจเพิ่มสองเท่าตัวอยู่ที่ 17,600 ล้านยูโร (ราว 6.42 แสนล้านบาท) ในปีนี้
ขณะเดียวกันราคาพลังงานในครัวเรือนและน้ำมันเชื้อเพลิงได้เพิ่มขึ้นแล้ว 39.5% เมื่อเทียบปีต่อปี โดยสำนักงานสถิติแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี (Destatis) ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อในประเทศแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีที่ 7.3% ในเดือนมีนาคม
เมาริซิโอ วาร์กัส ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจากกรีนพีซ ให้ความเห็นว่า การถกเถียงเกี่ยวกับการคว่ำบาตรพลังงานรัสเซียไม่ควรบดบังข้อเท็จจริงที่ว่า โลกจำเป็นต้องหลุดพ้นจากการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลในระดับรากฐานและเร่งขยายการใช้พลังงานหมุนเวียนครั้งใหญ่
เยอรมนีได้ประกาศแผนการเลิกซื้อก๊าซรัสเซียอย่างครอบคลุมภายในกลางปี 2024 หรือภายใน 2 ปีข้างหน้า ขณะปริมาณการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียจะลดลงครึ่งหนึ่งในช่วงฤดูร้อนปีนี้ ซึ่งจะทำให้เยอรมนีไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันจากรัสเซียอย่างเเท้จริงภายในสิ้นปี 2022 นี้ ไม่เพียงเท่านั้น เยอรมนียังได้ประกาศให้ความสนับสนุนท่าทีของสหภาพยุโรป (อียู) ที่จะแบนการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียทั่วทั้งภาคีอียูเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการคว่ำบาตรรัสเซียรอบที่ 6