สงครามรัสเซีย-ยูเครน ฉุดเศรษฐกิจ คลัง ปรับ GDP ปี 65 ลงเหลือ 3.5%

27 เม.ย. 2565 | 05:46 น.
อัปเดตล่าสุด :27 เม.ย. 2565 | 12:57 น.

คลัง ปรับลด GDP ปี 65 ลง เหลือโต 3.5% จากเดิมคาดโต 4% เหตุสงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย พร้อมคาดราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 99.50 ดอลลาร์/บาร์เรล และเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นอยู่ที่ 5%

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 65 ลง เหลือ 3.5% (ช่วงคาดการณ์ 3.0% – 4.0%) จากประมาณการครั้งก่อนในช่วงเดือนมกราคม 65 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 4% ต่อปี

 

เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา และส่งผลกระทบให้ราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้จากการปรับลดการขยายตัวของ GDP ปี 65 ที่ขยายตัวลดลงเหลือ 3.5% นั้น อยู่ภายใต้สมมติฐาน คือ ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีอ่อนค่า อยู่ที่ 33.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 99.50 ดอลลาร์/บาร์เรล จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย อยู่ที่ 6.1 ล้านคน ซึ่งเป็นการปรับคาดการลดลงจากเดิมที่คาดว่าทั้งปีจะมี 7 ล้านคน

สงครามรัสเซีย-ยูเครน ฉุดเศรษฐกิจ คลัง ปรับ GDP ปี 65 ลงเหลือ 3.5%

 

นายพรชัย กล่าวว่า การดำเนินนโยบายของภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีวงเงิน 3.18 แสนล้านบาท ที่คาดว่าทั้งปีจะเบิกจ่ายได้ 93.3% หรือ 2.89 ล้านล้านบาท

 

การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจวงเงิน 3.18 แสนล้านบาท และ การเบิกจ่ายเงินภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีการเบิกจ่ายในส่วนที่เหลืออย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

 

นอกจากนี้ คาดว่าการลงทุนภาครัฐ จะขยายตัว 4.6% ต่อปี การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 4.5% ต่อปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 5% เนื่องจากการปรับขึ้นของราคาพลังงานและอาหารสด

 

ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการเพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชน และรายจ่ายของผู้ประกอบอาชีพในภาคขนส่ง รวมถึงดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อย กลุ่มแรงงานและกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 4.3% ต่อปี และการส่งออกทั้งปี 65 คาดจะขยายตัวที่ 6% 

 

สำหรับความคืบหน้าการเบิกจ่ายเงิน ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้าน ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 65 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการไปแล้ว 67 โครงการ วงเงินรวม 425,714.31 ล้านบาท คงเหลืออีก 74,285.69 ล้านบาท ทั้งนี้  สบน. ได้มีการกู้เงินแล้ว 398,166 ล้านบาท โดยมีการเบิกจ่ายแล้ว 339,342.74 ล้านบาท หรือ 79.71% ของวงเงินที่มีการอนุมัติ

 

ขณะที่ปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีผลต่อเศรษฐกิจไทย  คือ ความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่จะกระทบต่อราคาพลังงาน การแพร่ระบาดและการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19

 

ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก จากการดำเนินนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลายประเทศเพื่อกดดันเงินเฟ้อ ปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานการผลิต และ ตลาดแรงงานยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่ ซึ่งเป็นข้อจำกัดการใช้จ่ายของประชาชน และความสามารถในการชำระหนี้สินของภาคครัวเรือนที่ยังคงมีความเปราะบาง