ประธานเฟดย้ำชัด พร้อมขึ้นดอกเบี้ยสูงสุด! เท่าที่จำเป็นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

18 พ.ค. 2565 | 04:31 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ค. 2565 | 11:48 น.

ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยืนยันว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดเท่าที่จำเป็น เพื่อควบคุมเงินเฟ้อซึ่งเดือนเม.ย.อยู่ที่ระดับ 8.3% ไม่ให้พุ่งขึ้นรุนแรงจนสร้างความเสียหายต่อรากฐานของเศรษฐกิจ

นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวสุนทรพจน์ใน งานสัมมนา Future of Everything Festival ซึ่งจัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล เมื่อวันอังคารตามเวลาสหรัฐ (17 พ.ค.) ว่า สิ่งที่เขาต้องการเห็นคือ อัตราเงินเฟ้อ ที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน และเฟดจะดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินไปจนกว่าจะเห็นสิ่งนั้น

 

“หากเราไม่เห็นว่าเงินเฟ้อชะลอตัวลงตามที่คาดหวังไว้ เราก็จะใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินที่แข็งกร้าวมากขึ้นอีก"นายพาวลล์กล่าวและว่า การบรรลุเป้าหมายเพื่อสร้างเสถียรภาพด้านเงินเฟ้อถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก และเป็นภารกิจที่เฟดจะต้องดำเนินการเนื่องจากเศรษฐกิจ ประชาชน และภาคธุรกิจ จะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ หากเงินเฟ้อไร้เสถียรภาพ

เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด

 

เขายอมรับว่า ถึงแม้การใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในแง่ของการกดดันให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลง และอัตราว่างงานพุ่งสูงขึ้น แต่ก็เชื่อมั่นว่า เฟดมีแนวทางที่จะดำเนินการดังกล่าวโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง

 

"อย่างไรก็ดี หากอัตราเงินเฟ้อไม่ชะลอตัวลง เฟดก็ไม่ลังเลที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกจนกว่าจะเห็นว่าเงินเฟ้ออยู่ในทิศทางที่ชะลอตัวลง" นอกจากนี้ นายพาวเวลล์ยังกล่าวต่อไปว่า

เศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับงบดุลบัญชีของผู้บริโภคและการดำเนินงานของภาคธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งด้วยเช่นกัน ซึ่งปัจจัยบวกเหล่านี้ เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เฟดสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอลงในระดับที่เพียงพอจะฉุดเงินเฟ้อให้ลดลงโดยไม่ส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัวลงรุนแรงเกินไป ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับที่เฟดเคยนำมาใช้ในอดีตเพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ

 

การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

ด้าน FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 100% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินอีก 2 ครั้ง ทั้งในเดือนมิ.ย.และก.ค.2565 หลังจากที่เฟดเพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ครั้งแรกในช่วงต้นเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 20 ปี (อ่านเพิ่มเติม: เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ตามคาด จ่อทำ QT เดือนมิ.ย.นี้)

เงินเฟ้อสหรัฐ

ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เงินเฟ้อของสหรัฐชะลอตัวเล็กน้อย โดยลดลงจาก 8.5% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 41 ปี ลงมาอยู่ที่ระดับ 8.3% ถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 8 เดือน แต่ก็ยังเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2564

 

ทั้งนี้ เงินเฟ้อของสหรัฐเริ่มทะยานขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา (2564) เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทาน สร้างแรงกดดันให้กับสินค้าและบริการขยับราคาสูงขึ้น