นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา สามารถรับมือกับผลกระทบจากการทำ สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน
“สหรัฐอยู่ในสถานะดีที่สุดที่จะเผชิญความท้าทายจากสงครามในยูเครน เมื่อพิจารณาจากเศรษฐกิจและตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง" นางเยลเลนกล่าวก่อนการประชุมรัฐมนตรีคลังของกลุ่ม G7 ที่กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนีวานนี้ (19 พ.ค.) อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า สงครามในยูเครนส่งผลให้ราคาอาหารและพลังงานพุ่งขึ้นทั่วโลก และทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกเกิดความไม่แน่นอน
นางเยลเลนเปิดเผยว่า มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ทั้งจากสหรัฐและชาติพันธมิตร กำลังส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการเงินของรัสเซียในการสนับสนุนการทำสงครามในยูเครน โดยจะเห็นได้ว่า รัสเซียกำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยและเงินเฟ้อสูง ขณะที่ระบบการเงินต้องเผชิญกับความท้าทาย ทำให้ไม่สามารถจัดหาวัตถุดิบที่ต้องการในการสนับสนุนเศรษฐกิจและการทำสงคราม ยกตัวอย่างเมื่อเร็ว ๆนี้ บริษัทผลิตรถถัง 2 รายของรัสเซียต้องปิดทำการเนื่องจากเกิดภาวะขาดแคลนอะไหล่ที่ต้องใช้ในการผลิต
นอกจากนี้ นางเจเน็ต เยลเลน ยังแสดงความคิดเห็นคัดค้าน “การยึด” สินทรัพย์ของรัสเซียในสหรัฐ โดยให้เหตุผลว่า การที่รัฐบาลสหรัฐยึดทรัพย์สินของธนาคารกลางรัสเซียที่มีอยู่ในสหรัฐ จะถือเป็นการกระทำที่ “ผิดกฎหมาย”
รัฐมนตรีคลังสหรัฐเปิดเผยว่า ขณะนี้สหรัฐและประเทศพันธมิตรได้ “อายัด” ทรัพย์สินของธนาคารกลางรัสเซียเอาไว้มูลค่ารวมราว 3 แสนล้านดอลลาร์
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา นายเดนิส ชไมฮาล นายกรัฐมนตรียูเครน เปิดเผยว่า รัฐบาลยูเครนได้อนุมัติการยึดทรัพย์สินของรัสเซียในยูเครนเรียบร้อยแล้ว โดยเขาได้เขียนข้อความผ่านแอปพลิเคชันเทเลแกรมระบุว่า คณะรัฐมนตรียูเครนมีมติอนุมัติการถ่ายโอนทรัพย์สินของรัสเซียในยูเครนที่อายัดไว้ให้เป็นกรรมสิทธิ์ภายใต้การจัดการของรัฐวิสาหกิจยูเครนในนาม "กองทุนรวมการลงทุนแห่งชาติ" แล้ว ซึ่งทรัพย์สินเหล่านี้จะถูกใช้เป็นทุนในการเสริมกำลังกองทัพยูเครนและฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานใหม่อีกครั้งหลังจากที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากภาวะสงครามกับรัสเซีย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียูเครนยังเปิดเผยว่า ยูเครนกำลังเจรจาขอความร่วมมือจากนานาชาติ ซึ่งรวมถึงชาติสมาชิก G7 ในการยึดทรัพย์สินของรัสเซียในประเทศเหล่านั้น เพื่อนำมาใช้เป็นค่าสินไหมทดแทนในการฟื้นฟูยูเครนหลังสิ้นสุดสงคราม
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าการฟื้นฟูประเทศยูเครนอย่างเต็มรูปแบบมีค่าใช้จ่ายราว 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 20.5 ล้านล้านบาท