Pride Month Bangkok 5 มิ.ย. จากความเป็นมาที่ขมขื่นสู่กิจกรรมแห่งสีสัน

05 มิ.ย. 2565 | 01:05 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มิ.ย. 2565 | 08:20 น.

งาน Pride Month เป็นกิจกรรมสำคัญที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก จัดขึ้นในเดือนมิถุนายน เพื่อแสดงออกถึงความเท่าเทียม และเรียกร้องสิทธิของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ สำหรับประเทศไทยปีนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 5 มิถุนายน

การจัด งาน Pride Month ครั้งแรกของไทยมีขึ้นภายใต้ชื่อ BANGKOK NARUEMIT PRIDE 2022 ในวันอาทิตย์ที่ 5 มิ.ย. ถือเป็นบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของ กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) นอกจากจะมีขบวนพาเหรดที่น่าตื่นตาตื่นใจแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักที่มาและประวัติของการจัดงาน Pride Month กันก่อน

 

Pride Month หรือ “เดือนแห่งความภาคภูมิใจ” ของ กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ มีการจัดกิจกรรมเพื่อสดุดีและระลึกถึงเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots) ซึ่งเป็นเหตุจลาจลที่เกิดขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ.1969 ในบาร์ที่ชื่อ ‘สโตนวอลล์ อินน์’ ย่านแมนฮัตตันของนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งยุคนั้นมีการจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้ความรุนแรงอยู่เสมอในผับของกลุ่มคนรักร่วมเพศ

Pride Month หรือ “เดือนแห่งความภาคภูมิใจ” ของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

การใช้ความรุนแรงที่บาร์สโตนวอลล์ อินน์ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเช้าวันนั้น ส่งผลให้เกิดการปะทะอย่างรุนแรงเป็นเวลาหลายวันระหว่างกลุ่มคนรักร่วมเพศและเจ้าหน้าที่ตำรวจ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในบริบททางสังคมที่ความหลากหลายทางเพศยังไม่เป็นที่ยอมรับของผู้คนทั่วไป การแต่งตัวที่ไม่ตรงกับเพศสภาพของตัวเอง และมีความรักกับเพศเดียวกัน จะถูกคนอื่นๆในสังคมมองราวกับเป็นผู้ก่อการร้าย ไร้ซึ่งการเคารพ ไร้ซึ่งตัวตน แถมถูกกดขี่สารพัดเหมือนกับคนที่มีตราบาปอยู่ในตัว ซ้ำยังมีโอกาสถูกจับกุมหากเปิดเผยตัวตนต่อสาธารณะ

สโตนวอลล์ อินน์ เป็นบาร์เกย์ที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มเพศทางเลือกในช่วงเวลานั้นเพราะเป็นบาร์เดียวในนิวยอร์กที่พวกเขาสามารถเปิดเผยตัวตนได้อย่างเต็มที่และที่สำคัญสามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาดื่มได้ (ความเหลื่อมล้ำทางกฎหมายยุคนั้น ทำให้ร้านอาหารผับบาร์ไม่สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับกลุ่มเพศทางเลือก) อย่างไรก็ตาม การที่ตำรวจเข้ามาบุกค้นบาร์สโตนวอลล์ด้วยความรุนแรง ทำให้เกิดจุดแตกหัก ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านเจ้าหน้าที่ มีการปะทะกันถึงขั้นจลาจลเป็นเวลา 5 วัน โดยสถานการณ์รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ทำให้ผู้คนเริ่มตระหนักและเข้าใจในกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น

 

เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นให้ชาว LGBTQ+ ซึ่งหมายถึงกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ลุกขึ้นยืนยันการมีตัวตน เรียกร้องให้ยุติการถูกกระทำอย่างรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ ยุติการเลือกปฏิบัติ และเรียกร้องสิทธิ-เสรีภาพการใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียมในสังคมในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

หลังจากเหตุการณ์สโตนวอลล์ 1 ปีถัดมา (ค.ศ.1970) ก็ได้เกิดขบวนพาเหรดของเหล่าชาว LGBTQ+  เดินจากที่ตั้งบาร์สโตนวอลล์ไปที่เซ็นทรัลพาร์ก ซึ่งวันนั้นถูกเรียกว่า Christopher Street Liberation Day พร้อมกับคำพูดประจำขบวนว่า Say it loud, Gay is proud ก่อนที่มันจะกลายเป็นวันสำคัญที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของการเรียกร้องของสังคมเพศทางเลือกมาจนถึงทุกวันนี้

 

ในปีค.ศ. 2000 ซึ่งเป็นช่วงยุคบริหารประเทศของประธานาธิบดีบิล คลินตัน มีการประกาศรับรองวันแห่งความภาคภูมิใจของเกย์และเลสเบี้ยน ต่อมาในปี 2009 ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้ประกาศให้เกิด Pride Month หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของความหลากหลายทางเพศ (LGBT Pride Month) จัดขึ้นในเดือนมิถุนายนของทุกปี เพื่อแสดงออกถึงความเท่าเทียมสิทธิ์ทางเพศ  นอกจากสหรัฐยังมีการจัดกิจกรรมลักษณะเดียวกันนี้ในอีกหลายประเทศ ซึ่งในแต่ละประเทศก็จะมีวันและเวลาในการจัดที่แตกต่างกันออกไป แต่ส่วนมากก็จะจัดขึ้นภายใน 1-30 มิ.ย.ของทุกปี โดยมีเอกลักษณ์เป็นขบวนพาเหรดสีรุ้ง หรือ ไพรด์พาเหรด

ความหมายของธงสีรุ้ง

ความหมายของสีรุ้ง

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักความหมายของ LGBTQ หรือ 5 กลุ่มเพศทางเลือก ซึ่งย่อมาจาก Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender และ Queer ที่เห็นว่ามีสัญลักษณ์ + เพิ่มต่อท้ายเข้ามาในภายหลังนั้นก็เพื่อสะท้อนว่า ที่จริงกลุ่มเพศทางเลือกนั้นมีมากมายนอกเหนือไปจากนิยาม 5 กลุ่มข้างต้น

 

ส่วน ธงสีรุ้งที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม LGBTQ+ ออกแบบโดยศิลปินและนักสิทธิชื่อดังนามว่า กิลเบิร์ต เบเกอร์ (Gilbert Baker) กิลเบิร์ตเป็นเพื่อนสนิทของฮาร์วีย์ มิลค์ (Harvey Milk) นักสิทธิเพื่อกลุ่มเพศทางเลือกในช่วงยุค 1960 พวกเขาต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ในฐานะนักสิทธิที่สื่อสารผ่านงานศิลปะ กิลเบิร์ต ออกแบบธงหลากสีไว้ในปี 1978 โดยความหมายของการถือธง ก็เพื่อสื่อถึงการประกาศอิสรภาพ การมีอาณาจักรเป็นของตนเอง และการที่กลุ่มความหลากหลายทางเพศ มีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

 

ในอดีตธงสายรุ้งมี 8 สี แต่เนื่องจากในปีต่อๆ มา ผ้าสีชมพูและฟ้าขาดตลาด ทำให้ราคาสูงมากและหาได้ยากในหลายพื้นที่ กิลเบิร์ตจึงปรับแบบให้เหลือเพียง 6 สี เพื่อที่ทุกคนจะสามารถผลิตธงของตัวเองได้ จนกลายเป็นแบบที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน

 

ขบวนพาเหรด Pride ครั้งแรกในประเทศไทย

จิราเจต วิเศษดอนหวาย หนึ่งในคณะทำงาน Bangkok Naruemit Pride 2022 กล่าวว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยมีกลุ่มคนหลากหลายทางเพศได้จัดงาน พาเหรดเกย์เฉลิมฉลองที่สีลม โดยมีร้านค้าที่สีลมเป็นสปอนเซอร์ ซึ่งไม่ได้เป็นขบวนใหญ่ และไม่ได้จัดมานานตั้งแต่ปี 2556 แล้ว

 

การจัดพาเหรดในวันที่ 5 มิ.ย.ปีนี้ จะเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดพื้นที่ให้กับคนหลากหลายทางเพศ ทั้งคนจัดงานและคนมาร่วมงาน มีเยาวชนหลายคนมาเป็นอาสาสมัคร ทำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ ช่วยกันออกแบบขบวนพาเหรด สีสันของงานที่เป็นไฮไลต์ คือ ขบวนพาเหรดที่ไม่ได้เน้นความอลังการ แต่เน้นประเด็นเรียกร้องของกลุ่มคน LGBTQ+

 

โดยจะแบ่งขบวนพาเหรดออกเป็น 6 สี ในประเด็นที่แตกต่างกันไป คนที่เข้าร่วมก็มีความแตกต่างหลากหลายมาก เช่น

  • สีแดง ทำเรื่องกฎหมาย สมรสเท่าเทียม ยุติความรุนแรงทางเพศ
  • สีส้ม สวัสดิการเพื่อเพศหลากหลาย เครือข่าย HIV
  • สีเหลือง ภาคธุรกิจที่ยุติการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานเพศหลากหลาย
  • สีเขียว ทำเรื่องเซ็กส์ทอยถูกกฎหมาย เพศวิถี ทำแท้งปลอดภัย
  • สีน้ำเงิน  สันติภาพสำหรับทุกชีวิต สิทธิผู้ไร้สัญชาติ วีแกน สิ่งแวดล้อม
  • สีม่วง ผู้เชื่อมั่นในจิตวิญญาณ การเยียวยา แม่มด ศาสนา

 

แต่ละขบวนจะมีเซอร์ไพรส์ มีกลุ่มพาเหรดในต่างประเทศ เช่นจากนิวยอร์ค ไต้หวัน ติดต่อมาว่าจะเข้าร่วมเดินด้วย มีกลุ่มหญิงชายก้าวไกลที่ดูแลเรื่องความรุนแรงทางเพศ จะมาร่วมด้วย

 

หัวขบวนพาเหรดจะเริ่มต้นที่วัดแขก ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญบนถนนสีลม เป็นแหล่งนัดพบที่ทุกคนรู้จักกันดี การเดินพาเหรดเริ่มเวลา 16.00-19.00 น. จากวัดแขกไปยังสีลม จากนั้นจะมี after party ที่ร้าน Mischa cheap ถนนข้าวสาร เวลา 21.00 น. บัตรราคา 400 บาท รายได้หักค่าใช้จ่ายสนับสนุนการจัดงานนฤมิตไพรด์และสงขลาไพรด์ ซึ่งเป็นกิจกรรมคู่ขนานที่จะจัดในวันที่ 26 มิ.ย.65 ที่จังหวัดสงขลา