'โอมาน' ชมไทย ก้าวไวในพันธกิจสังคมคาร์บอนต่ำ

08 มิ.ย. 2565 | 08:07 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มิ.ย. 2565 | 21:02 น.

รัฐมนตรีพลังงานฯโอมานชมไทยเดินหน้าได้เร็วในเชิงเศรษฐกิจและการมุ่งหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ย้ำเป็น “ภารกิจระดับโลก”ที่ต้องอาศัยทั้งเงินทุนสูงและความอดทน ชี้เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน (CCS) เป็นทางออกที่ดี สามารถสร้างโอกาสและอุตสาหกรรมใหม่ ๆ แม้จะเป็นความท้าทาย  

ฯพณฯ ดร.โมฮัมเหม็ด บิน ฮามัด อัล รุมมี (H.E. Dr. Mohammed bin Hamad Al Rumhy) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและสินแร่ ประเทศโอมาน กล่าวผ่านระบบประชุมทางไกลใน งานสัมมนา TEA FORUM 2022 “Mission Possible: Energy Transition to the Next 2050 ภารกิจพลังงาน เปลี่ยนอนาคต” จัดโดย กระทรวงพลังงาน สถาบันวิทยาการพลังงาน ปตท. ฐานเศรษฐกิจและสื่อในเครือเนชั่น วันนี้ (8 มิ.ย.) ระบุว่า การมุ่งสู่ สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ซึ่งเป็นวาระสำคัญระดับโลกนั้น โอมานในฐานะผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายหนึ่งและเป็นสมาชิกกลุ่มโอเปก มองว่า นานาชาติต้องร่วมมือและหาทางออกด้วยกัน ทั้งยังต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน มุ่งหน้าไปด้วยกันอย่างอดทน

 

“โอมานเป็นสมาชิกโอเปก แต่ก็ไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ สำหรับภารกิจลดการสร้างคาร์บอนและก๊าซโลกร้อนอื่นๆ ซึ่งเป็นวาระระดับโลก เป็นพันธกิจและความรับผิดชอบร่วมกันของนานาประเทศ ผมมองว่า การใช้เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน (Carbon capture and storage: CCS) แล้วนำมาใช้ประโยชน์ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการขจัดคาร์บอนอย่างสิ้นเชิง เรามีอุตสาหกรรมพลังงานและอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่นเหล็กกล้า ที่นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้แล้วซึ่งยอมรับว่าต้องใช้ต้นทุนสูงมาก”

สัมภาษณ์พิเศษรัฐมนตรีพลังงานและสินแร่โอมาน ภายในงานสัมมนา TEA FORUM 2022 “Mission Possible"

รัฐมนตรีพลังงานและสินแร่ของโอมานมองว่า การตัดสินใจใช้เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนแล้วนำมาใช้ประโยชน์เป็นทางเลือกที่ดี เพราะในระยะ 30-40 ปีข้างหน้า โอมานก็คงยังต้องผลิตและยังไม่สามารถยกเลิกการใช้น้ำมัน ซึ่งในการกระบวนการผลิตน้ำมันก็ต้องยอมรับว่าเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดคาร์บอนรวมทั้งก๊าซมีเทน ที่เป็นตัวการสร้างภาวะโลกร้อน ดังนั้นในช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านจากการผลิตและการใช้พลังงานฟอสซิล ไปสู่พลังงานที่สะอาดกว่า จึงควรต้องนำเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนมาใช้

แต่ความท้าทายที่สุดคือการเงินสนับสนุน เพราะการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในอุตสาหกรรมจำเป็นต้องใช้ต้นทุนสูงมาก แต่เนื่องจากทั้งโอมานและไทย รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ล้วนเป็น ส่วนหนึ่งของหมู่บ้านโลก (global village) ทุกประเทศจึงต้องมีความรับผิดชอบร่วมกันเพื่อโลก

 

ในส่วนของโอมาน เขามองว่าเรื่องนี้ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ ๆ และนั่นก็หมายถึงโอกาสใหม่ ๆที่เกิดขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวมาแล้วว่า กระบวนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน หรือ Energy Transition นั้นต้องใช้เวลา จึงต้องมีความอดทน ต้องมองในแง่ความมั่นคงด้านพลังงาน ควบคู่กันไปกับการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะ “พลังงาน” คือพลังขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

\'โอมาน\' ชมไทย ก้าวไวในพันธกิจสังคมคาร์บอนต่ำ

“อย่าลืมว่าในขณะที่เรามุ่งหน้าสู่เป้าหมายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของโลก เราต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กันไปด้วย เราต้องสร้างงาน-สร้างโอกาสให้กับคนหนุ่มสาวในประเทศของเรา แนวคิดบางอย่างที่ยังไม่สามารถบรรลุได้ในขณะนี้ก็ต้องเดินหน้าทำเป็นลำดับเป็นขั้นตอนไปเพื่อมุ่งหน้าสู่เป้าหมายในอนาคต เช่นก่อนจะไปถึงเป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ ก็ต้องค่อย ๆ พัฒนาเทคโนโลยี เช่นพลังงานนิวเคลียร์ พลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ แต่ต้องไม่ลืมว่า ปัจจุบันก็เป็นสิ่งสำคัญ ปัจจุบันเราต้องสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างโอกาสให้กับประชาชน”

รัฐมนตรีพลังงานโอมานกล่าวชื่นชมว่า ประเทศไทยทำได้ดีมากในเชิงเศรษฐกิจ มีการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมพลังงานที่เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งยังก้าวไวในพันธกิจสังคมคาร์บอนต่ำ ความท้าทายอาจมีอยู่ แต่ก็เปิดโอกาสใหม่ ๆในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีใหม่ ๆจะนำไปสู่เป้าหมายได้ แต่ก็ต้องสร้างความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และเอ็นจีโอ ทุกภาคส่วนต้องมีความอดทนก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน มันไม่ง่าย ต้องอดทนก้าวไป และมองผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ