แถลงการณ์ของ เซลเซียส เน็ตเวิร์กส์ ชี้แจงว่า บริษัทตัดสินใจระงับการให้บริการด้านการถอน การแลกเปลี่ยน และการโอนระหว่าง บัญชีคริปโต ทั้งหมดเป็นชั่วคราว เพื่อที่จะปรับปรุงสถานะของบริษัทให้แข็งแกร่งขึ้นและเพื่อให้สามารถทำตามพันธกรณีด้านการถอน สินทรัพย์สกุลเงินคริปโต ทางบริษัทกำลังพยายามอย่างเต็มที่โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องและรักษาไว้ซึ่งทรัพย์สินเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงที่ได้ให้ไว้กับลูกค้า
เซลเซียส เป็นหนึ่งในบริษัทปล่อยกู้คริปโตฯที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีทรัพย์สินมูลค่าสูงกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เมื่อไม่นานมานี้ เซลเซียสเคยฝ่าฝืนกฎระเบียบของหน่วยงานกำกับดูแล และมีผู้ใช้แพลตฟอร์มบางส่วนออกมากล่าวโทษว่า เซลเซียสเป็นต้นเหตุที่ทำให้พวกเขาสูญเสียเงินจำนวนมากจากการที่บริษัทเชิญชวนให้ถือ เหรียญดิจิทัล CEL (Celsius) เป็นหลักประกันเงินกู้ ขณะที่ข้อมูลจากคอยน์เก็กโค (CoinGecko) ระบุว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (12 มิ.ย.) มูลค่าเหรียญ CEL ร่วงลง 48% และสูญเสียมูลค่าไปมากกว่า 75% ในเดือนพ.ค. 2565 และสูญเสียมูลค่า 97% ในปี 2564
ทั้งนี้ ตลาดคริปโตทรุดตัวลงกว่า 40% ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากความกังวลที่ว่า หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ก็จะเป็นปัจจัยฉุดสภาพคล่องในตลาดสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งรวมถึงตลาดคริปโต
ราคาบิตคอยน์ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดดิ่งหลุดระดับ 26,000 ดอลลาร์ และมีแนวโน้มที่ทดสอบแนวรับที่ระดับ 25,000 ดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าเฟดอาจจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่สูงเกินคาด
เมื่อเวลาประมาณ 11.01 น.ตามเวลาไทยในวันจันทร์ (13 มิ.ย.) ราคาบิตคอยน์ร่วงลง 1,924 ดอลลาร์ หรือ 7.03% แตะที่ 25,460 ดอลลาร์
กูรูเตือนคริปโตฯคุกคามความปลอดภัยระบบการชำระเงินโลก
นางแอนน์ โบเดน ผู้ก่อตั้งสตาร์ลิง ธนาคารดิจิทัลที่ได้รับการสนับสนุนโดยโกลด์แมน แซคส์ ตอกย้ำถึงความเสี่ยงจากคริปโตเคอร์เรนซี โดยระบุว่าสกุลเงินดิจิทัลคุกคามความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน
"คริปโตฯ เป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง" นางโบเดนกล่าวเตือนเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (7 มิ.ย.) ในเวทีการประชุมฟินเทค Money 20/20 ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ "กระเป๋าเงินคริปโตฯ จำนวนมากเชื่อมโยงโดยตรงกับระบบการชำระเงิน ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามความปลอดภัยของระบบการชำระเงินทั่วโลก"
ปัจจุบัน บริษัทผู้ให้บริการชำระเงินรายใหญ่ เช่น มาสเตอร์การ์ดและวีซ่า ยักษ์ใหญ่ด้านบัตรเครดิต ได้สนับสนุนคริปโตเคอร์เรนซี โดยเปิดเครือข่ายที่เชื่อมโยงกับสินทรัพย์ดิจิทัล ในขณะที่เพย์พาลอนุญาตให้ผู้ใช้งาน เทรดบิตคอยน์และคริปโตฯ สกุลอื่น ๆ ได้ ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบต่างวิตกกังวลว่า ระบบการเงินจะโยงใยกับโลกอันผันผวนของคริปโตฯ เพิ่มมากขึ้น
ที่สำคัญคือ ตลาดคริปโตฯ เวลานี้กำลังอยู่ในช่วงขาลง โดยมูลค่าคริปโตฯ ทั้งหมดลดลงประมาณ 4 แสนล้านดอลาร์ในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนแห่เทขายเพราะวิตกกังวลเกี่ยวกับการทรุดตัวลงของ TerraUSD ซึ่งเป็นเหรียญสเตเบิลคอยน์ที่ตามหลักการแล้วจะมีมูลค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐเสมอ
ทั้งนี้ นางโบเดนไม่ได้ออกมากล่าวเตือนเกี่ยวกับอันตรายของโลกคริปโตฯ เป็นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้ เธอก็เคยเตือนถึงความเสี่ยงที่ผู้บริโภคจะหลงตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกงจากการลงทุนในคริปโตฯ มาแล้ว
สำหรับสตาร์ลิงนั้น ก่อตั้งขึ้นในอังกฤษเมื่อปี 2557 ให้บริการตรวจสอบบัญชีและการปล่อยสินเชื่อผ่านทางแอปพลิเคชันแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยปัจจุบันบริษัทดังกล่าวมีมูลค่า 2,500 ล้านปอนด์ (3,100 ล้านดอลลาร์)
ผู้เชี่ยวชาญคาดเงินคริปโตจำนวนมากจะพังทลาย เหลือบล็อกเชนไม่กี่เจ้า
ผู้เชี่ยวชาญหลายรายในวงการคริปโตเคอร์เรนซีเปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า เหรียญดิจิทัลกว่าหลายพันเหรียญจะพังทลาย ขณะที่จำนวนแพลตฟอร์มบล็อกเชนในอนาคตข้างหน้าจะเหลือผู้ชนะเพียงไม่กี่เจ้า
ความคิดเห็นดังกล่าวมีขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ทรุดตัวลงของราคาเหรียญสเตเบิลคอยน์ TerraUSD หรือ UST และเหรียญลูนา (Luna) จนส่งผลให้เหรียญคริปโตฯ อื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 19,000 เหรียญถูกจับตามองไปด้วยว่าเหรียญเหล่านี้จะอยู่รอดหรือไม่
ผู้เชี่ยวชาญหลายรายเปิดเผยว่า ปัจจุบันบล็อกเชนและเหรียญคริปโตฯ นั้นมีจำนวนมากเกินไป ทำให้เกิดความสับสนและความเสี่ยงตามมา โดยเปรียบเทียบกับยุคที่เพิ่งมีอินเทอร์เน็ต ซึ่งขณะนั้นมี "บริษัทดอทคอม" จำนวนมาก และในจำนวนนี้ก็มีธุรกิจหลอกลวงอยู่มากด้วย ก่อนที่ธุรกิจเหล่านี้จะค่อย ๆ หายไป จนเหลือแต่บริษัทที่สร้างมูลค่าได้จริง ๆ
ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวในวงการคริปโตฯ หลายรายเห็นตรงกันว่า แม้เงินคริปโตฯ ส่วนใหญ่จะเป็นเหมือน "ขยะ" แต่สำหรับบิตคอยน์และอีเธอเรียมน่าจะเป็นสกุลเงินคริปโตฯ ที่จะอยู่รอดได้ต่อไปในอนาคตข้างหน้า