ศูนย์สถิติการศึกษาแห่งชาติ (NCES) ของ สหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายงานฉบับใหม่ระบุว่า เหตุกราดยิงในโรงเรียน สำหรับปีการศึกษา 2563-2564 พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี
NCES ซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการของสหรัฐและสถาบันวิทยาศาสตร์การศึกษา เปิดเผยข้อมูลว่า ในรอบปีการศึกษาดังกล่าว ได้เกิดเหตุกราดยิงในโรงเรียนที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ จำนวนทั้งหมด 93 ครั้ง โดยสถานที่เกิดเหตุมีทั้งในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาของรัฐและเอกชน แบ่งเป็นเหตุกราดยิงในโรงเรียนที่มีผู้เสียชีวิตจำนวน 43 ครั้ง และเหตุกราดยิงในโรงเรียนที่มีเฉพาะผู้บาดเจ็บจำนวน 50 ครั้ง
นอกจากนี้ ในระหว่างปีการศึกษา 2563-2564 ยังมีรายงานเหตุกราดยิงในโรงเรียนจำนวน 53 ครั้ง ที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นแต่ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับอดีตย้อนไป 20 ปี คือ ช่วงปีการศึกษา 2543-2544 พบว่าเกิดเหตุกราดยิงในโรงเรียนน้อยกว่าปัจจุบันมาก โดยในระหว่างปีการศึกษา 2543-2544 มีเหตุกราดยิงในโรงเรียนสหรัฐที่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต จำนวนเพียง 23 ครั้งเท่านั้น
เป็กกี้ จี คาร์ กรรมาธิการของ NCES ระบุในการแถลงข่าวว่า ถึงแม้อัตราการตกเป็นเหยื่อความรุนแรงที่ไม่ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตในโรงเรียนสำหรับเด็กอายุ 12 -18 ปีในปี 2562 จะต่ำกว่าในปี 2552 แต่ก็มีเหตุกราดยิงในโรงเรียนที่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตในปี 2564 มากกว่าปีอื่น ๆ นับตั้งแต่ที่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลครั้งแรกเมื่อต้นปี 2543
นอกจากนี้ จำนวนเหตุกราดยิงในสถาบันการศึกษาของสหรัฐยังเพิ่มขึ้นจากเพียง 11 ครั้งในปี 2552 เป็น 93 ครั้งในปีที่ผ่านมา (2564)
"ขณะที่ผลกระทบของปัญหาอาชญากรรมและความปลอดภัยเหล่านี้ไม่สามารถวัดได้จากข้อมูลสถิติเพียงอย่างเดียว แต่ข้อมูลเหล่านี้ก็มีค่าต่อความพยายามของผู้กำหนดนโยบาย เจ้าหน้าที่โรงเรียน และสมาชิกในชุมชนของเรา เพื่อบ่งชี้และดำเนินมาตรการป้องกันและรับมือ" เป็กกี้ จี คาร์ กล่าวเสริม
ทั้งนี้ รายงานฉบับล่าสุดได้ถูกเผยแพร่ออกมาหลังจากเกิดเหตุกราดยิงที่โรงเรียนประถมศึกษาร็อบบ์ในเมืองยูแวลดี รัฐเท็กซัส ซึ่งส่งผลให้เด็กนักเรียน 19 คน และครู 2 คนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา
จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ล่าสุด ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ได้ลงนามรับรองร่างกฎหมายควบคุมอาวุธปืนที่สำคัญที่สุดของสหรัฐในรอบเกือบ 30 ปี หลังจากที่เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2565 วุฒิสภาสหรัฐลงมติผ่านกฎหมายดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง 63-55 จากนั้นในวันที่ 24 มิ.ย.สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 234-193 นับเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของประธานาธิบดีไบเดน แต่การที่กฎหมายฉบับนี้ผ่านการเจรจาต่อรองระหว่างพรรคเดโมแครตกับพรรครีพับลิกัน ทำให้ต้องยอมรับว่า แม้เนื้อหาของกฎหมายยังไม่ใช่ทั้งหมดที่ต้องการ แต่ก็จะสามารถปกป้องชาวอเมริกัน โดยเฉพาะเด็กๆ ในโรงเรียนและชุมชน ให้มีความปลอดภัยมากขึ้น
นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า อาวุธปืนคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กอเมริกันเสียชีวิต กฎหมายฉบับนี้มีขั้นตอนที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการสูญเสียชีวิตจากอาวุธปืน ทั้งเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกวัน การฆ่าตัวตาย และอุบัติเหตุ โดยมีเนื้อหาสำคัญคือการตรวจสอบประวัติผู้ที่ต้องการซื้ออาวุธปืน การป้องกันการขายอาวุธให้เยาวชน และห้ามขายอาวุธให้กับผู้ที่เคยทำความผิดฐานใช้ความรุนแรงในครอบครัว ทั้งยังจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมแก่ทุกรัฐเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย “ธงแดง” (red flag) เพื่อยึดอาวุธปืนจากผู้ที่อาจมีพฤติกรรมเป็นอันตราย
อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ขัดแย้งกับคำพิพากษาของศาลฎีกาสหรัฐที่เพิ่งมีคำพิพากษาขยายสิทธิ์การครอบครองอาวุธปืนให้กับประชาชนในประเทศ โดยให้ยกเลิกข้อกำหนดของรัฐนิวยอร์กที่ห้ามประชาชนพกพาอาวุธปืนในที่สาธารณะ ซึ่งตุลาการศาลฎีกาเสียงข้างมาก ระบุว่า กฎหมายที่มีการประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2456 (ค.ศ. 1913) นั้นละเมิดรัฐธรรมนูญ
ด้านสมาคมปืนไรเฟิลแห่งชาติ (NRA) เปิดเผยว่า คำพิพากษาของศาลฎีกา คือ ชัยชนะครั้งใหญ่ของเจ้าของอาวุธปืนในอเมริกา และเห็นว่ามติของสภาคองเกรส คือ มาตรการควบคุมปืนแบบไร้เหตุผลที่มีแต่จะลิดรอนสิทธิ์ของผู้ที่ปฏิบัติตามกฎหมาย