นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์บทความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thirachai Phuvanatnaranubala วานนี้ (2 ก.ค.) เรื่อง “เฝ้าระวังมหาวิกฤตเศรษฐกิจ” ซึ่งเป็นชุดบทความชิ้นที่ 67 มีรายละเอียดน่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ติดตามนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา และสถานการณ์เศรษฐกิจโลก อธิบายว่า เพราะเหตุใด ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในเดือน ส.ค./ก.ย.นี้
“เฝ้าระวังมหาวิกฤตเศรษฐกิจ” บทความที่ 67
ทำไมเฟดอาจจะต้องเปลี่ยนนโยบาย ในเดือน ส.ค./ก.ย.?
เฟดไม่สามารถเนรมิตน้ำมันหรืออาหาร ดังนั้น วิธีชะลอเงินเฟ้อจึงเหลืออย่างเดียว คือลดกำลังซื้อ ทำให้เศรษฐกิจหดตัว
เฟดเริ่มขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไป การขึ้นดอกเบี้ยวันนี้ กว่าจะมีผลลด demand ก็กินเวลาอีก 12-18 เดือน
ดังนั้น จึงไม่ได้หวังผลจะให้เงินเฟ้อลดลงทันที แต่หวังให้ลด inflation expectation
มิฉะนั้น ฝ่ายแรงงานก็จะเจรจาขอขึ้นค่าจ้างสูงมาก ดังเห็นในการนัดหยุดงานสายการบินยุโรปขณะนี้
เมื่อเฟดเปลี่ยนจากเหยียบคันเร่ง ไปเหยียบเบรก แต่ทำเมื่อสาย มักจะทำให้เครื่องบินเศรษฐกิจเสี่ยงหัวทิ่ม Hard landing คือ ตลาดหุ้นทรุดแรง ส่งผลกระทบต่อบำนาญส่วนบุคคล ที่เรียกว่า 401(k) และกองทุนบำนาญหลายแห่ง จะไม่มีเงินจ่ายผู้เกษียณ โดยเฉพาะของมลรัฐต่างๆ เพราะสถานะจะติดลบหนักขึ้น
ถามว่า มีข้อมูลอะไร ที่บ่งชี้ว่า ตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรปอาจจะทรุดหนัก เริ่มเดือน ส.ค./ก.ย.
กำไรบริษัทจดทะเบียน
รูป 1 Michael Burry ผู้เคยเก็งวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ล่วงหน้า ได้กำไรไปมาก จู่ ๆ ก็ทวิตข้อความว่า
‘ทำไมจะเกิดปรากฏการณ์คริสต์มาสขึ้น ในเดือน ก.ค. 2022?’
เขาต้องการเน้นเหตุการณ์จากโควิด ซึ่งรัฐบาลสหรัฐโปรยเงินจากเฮลิคอปเตอร์ ทำให้คนสั่งซื้อสินค้ามากเกินกว่าปกติ
ส่งออกบูมในจีน และอาเซียน จนทำให้เกิดปัญหา supply chain เรือรอคิวเทียบท่าทั้งฝั่งสหรัฐ และฝั่งจีน
ร้านค้าปลีกจึงตัดสินใจสั่งสินค้า เกินกว่าจำนวนที่จะขายได้จริงไว้ก่อน เพื่อเบียดแข่งกับออเดอร์ของคู่ต่อสู้ ให้ตกขอบ ไปอยู่หลังแถว
บัดนี้ ร้านค้าปลีกจึงจำเป็นต้องเลหลังสินค้า ออกไป ต้องยอมรับขาดทุน
นี่เอง ที่โยงคริสต์มาสมาถึงเดือน ก.ค. เพราะผลประกอบการ Q2/2022 อาจจะขาดทุน ซึ่งจะประกาศตั้งแต่ปลาย ก.ค. เป็นต้นไป
รูป 2 ต่อมาเขาทวิตเพิ่มว่า สินค้าล้นโกดังจะทำให้ร้านค้าปลีกสั่งสินค้าน้อยลง จะก่อผลต่อผู้ค้าส่ง และผู้ผลิต เหมือนการสะบัดแซ่ bullwhip effect
รูป 3 แสดงผลย้อนกลับไปสู่ผู้ผลิต และต่อเนื่องไปถึงผู้ขายวัตถุดิบ โดยผลกระทบจะขยายหนักขึ้น
และนอกจากนี้ ปัญหาสั่งสินค้า ชิ้นส่วน และวัตถุดิบ เกินความต้องการจริงนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นแต่ร้านค้าปลีก แต่เกิดขึ้นตลอดสายอีกด้วย
ดังนั้น ความเสี่ยงที่กำไรจะลดลง ถึงขั้นขาดทุน จึงมีสูง
เศรษฐกิจจีน
รูป 4 ของ 42Macro แสดงตัวเลขจีดีพี แท่งสีน้ำเงิน ที่โด่งขึ้น Q1/2021 นั้น เกิดจากเงินเฮลิคอปเตอร์สหรัฐ และการอัดนโยบายการคลังในยุโรป ทำให้ออเดอร์สินค้าพุ่งพรวด
แต่แท่งสีน้ำเงินลดลงไปเรื่อยๆ และพยากรณ์ล่าสุด เส้นสีแดง จีดีพีของจีนก็จะลดลงไปอีก
ในรูป 5 บลูมเบิร์กสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์ ส่วนใหญ่คาดว่าจีดีพีจะอยู่ระดับต่ำไปถึงปี 2023 (แท่งสีฟ้า)
ดังนั้น จีนไม่สามารถช่วยบูม แก้ปัญหาเศรษฐกิจโลกได้ เหมือนในกรณีวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
เศรษฐกิจยุโรป
ใน รูป 6 ยุโรปก็ได้อานิสงส์จากเงินเฮลิคอปเตอร์สหรัฐเช่นเดียวกับจีน แต่จีดีพีแผ่วลงแล้ว โดยพยากรณ์ล่าสุด เส้นสีแดง ก็ลดลงไปอีกเช่นเดียวกับจีน
รูป 7 ดัชนีชี้นำ จัดทำโดย OECD แสดงจีดีพีโน้มลดลงอย่างเร็ว และ 42Macro พยากรณ์ว่าจะลดลงต่ำมากไปถึงปี 2023 (เส้นประ)
รูป 8 ข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า กองทุนเฮดจ์ฟันด์ Bridgewater ที่บริหารโดย Ray Dalio ซึ่งเชี่ยวชาญเศรษฐกิจมหภาคอย่างมากนั้น ได้ขายหุ้นยุโรปล่วงหน้า เก็งว่าไม่นานราคาจะร่วง โดยพนันด้วยเงินสูงถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์
(เครดิตภาพตามแหล่งที่แสดงชื่อ)
หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ