เตรียมตัวรับมือ โลก “ถดถอย”

01 ก.ค. 2565 | 22:30 น.

บทบรรณาธิการ

เสียงเตือนยังไม่หยุด ก่อนหน้านี้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ออกมายอมรับว่า ประเมินสถานการณ์ต่ำเกินไป จนตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนพ.ค.เร่งตัวต่อเนื่องที่ 8.6 %  และการประชุมเฟดครั้งที่ผ่านมา (15 มิ.ย.2565) ต้องงัดยาแรง ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.75 % สู่ระดับ 1.5-1.75 %  ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2537

 

ล่าสุด ประธานเฟด ไปขึ้นเวทีเสวนาเรื่องความท้าทายสำหรับนโยบายการเงินในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ร่วมกับผู้บริหารสถาบันการเงินระดับโลก อาทิ ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ผู้จัดการใหญ่ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) เป็นต้น ยังคงแสดงความกังวลถึงปัญหา “เงินเฟ้อ” โดยระบุว่า การจัดการปัญหานี้จำกัดมากขึ้นเรื่อย ๆ  ทั้งเวลาและเครื่องมือ ตามเวลาที่เหลือน้อยลง หรือกลับกัน โอกาสจะ “Soft Landing” ยากขึ้นเป็นลำดับ

คำกล่าวที่ว่า เวลาที่เหลือน้อยลงในการจัดการปัญหาเงินเฟ้อ แปลกลับอีกทางได้เท่ากับว่า เฟดต้องเร่งดำเนินนโยบายให้ทันกับปัญหาที่เกิดขึ้น นั่นคึอ เฟดยังพร้อมใช้ยาแรงเพื่อคุมเงินเฟ้อให้อยู่หมัด โดยรับว่าผลข้างเคียงของนโยบายนี้ ไม่รับประกันว่าจะไม่กระทบตลาดแรงงาน

 

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO ชี้ว่า หมัดเด็ดของเฟดในการสยบเงินเฟ้อ คือ การเดินหน้านโยบายดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งจะลงด้วยการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต เพื่อให้กระบวนการปรับขึ้นราคาสินค้า ค่าจ้างต่าง ๆ ดำเนินต่อไปไม่ได้ เมื่อขายของไม่ได้ บริษัทปิด คนตกงาน ไม่มีใครกล้าขึ้นราคาสินค้า ไม่มีใครกล้าเรียกร้องเงินเดือนเพิ่ม เป็นการ Set zero เพื่อเริ่มต้นใหม่ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ที่ธนาคารกลางจะช่วยกระตุ้นอีกครั้ง  

โลกที่กำลังเดินหน้าสู่ภาวะถดถอยนี้ นายกอบศักดิ์ ส่งสัญญาณให้เตรียมพร้อมรับมือ แม้ไม่สามารถหยุดยั้ง “รถไฟเบรกแตกกำลังมุ่งหน้าเข้าชานชาลา” แต่อย่างน้อยก็ไม่ถึงแก่ชีวิต ช่วยลดความเสียหายลง  สามารถอพยพคน ยกเอาข้าวของออกจากชานชาลา และสถานีได้ โดยมีเวลาเตรียมรับมือ 1-2 ปีนี้ โดยสิ่งที่ไม่จำเป็นก็ลดละ เตรียมสะสมสภาพคล่องต่างๆ ไว้ให้พร้อม สิ่งที่สุ่มเสี่ยงเกินไป คงต้องชะลอไปก่อน

 

ไม่จำเพาะภาคธุรกิจ แม้แต่เศรษฐกิจระดับครัวเรือนก็ต้องทำตัวให้แข็งแรง เก็บออม งดก่อหนี้ ลดความเสี่ยงไม่ทำอะไรเกินตัว สร้างเสริมภูมิคุ้มกันตนเองและครอบครัว ให้พร้อมรับแรงกระแทกเศรษฐกิจโลกในยุคถดถอยที่ตั้งเค้ามาแล้ว