ผลการศึกษาล่าสุดโดย องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ได้รับการเผยแพร่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ชี้ว่า ช่วง 3 เดือนแรกของสงครามในยูเครน คือ ปัจจัยที่ดันต้นทุนพลังงานและอาหารโลกพุ่งขึ้นอย่างมาก จนทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ และส่งผลให้คนจำนวน 71 ล้านคนต้องตกอยู่ในภาวะยากจน
นายอาคิม สไตเนอร์ ผู้บริหารสูงสุดของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) กล่าวระหว่างการแถลงข่าวออนไลน์จากนครเจนีวา ว่า ผลการวิเคราะห์สถานการณ์ในประเทศกำลังพัฒนาจำนวน 159 ประเทศ ชี้ให้เห็นว่า การปรับขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลัก ๆ เริ่มมีผลกระทบที่ "ร้ายแรงและฉับพลัน" ต่อครัวเรือนที่มีฐานะยากจนที่สุดในโลกแล้ว
การศึกษานี้ยังแสดงให้เห็นด้วยว่า แรงสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจจากการที่รัสเซียส่งกองทัพเข้ารุกรานยูเครนนั้นเกิดขึ้นหลังมีการดำเนินมาตรการล็อกดาวน์เพราะการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เป็นเวลา 18 เดือน ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลสะสมอย่างช้า ๆ แต่รุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก
สไตเนอร์ กล่าวว่า ภาวะระบาดใหญ่ของโควิดนั้นทำให้ผู้คนราว 125 ล้านคนตกอยู่ในภาวะยากจนไปก่อนหน้านี้แล้วด้วย
ในงานแถลงข่าวเดียวกันนี้ นายจอร์จ เกรย์ โมลินา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ UNDP เปิดเผยว่า สถานการณ์ทั้งสองนี้ทำให้หลายประเทศต้องเผชิญกับช่วงเวลา 36 เดือนของ “แรงช็อก” ที่เกิดขึ้นติดต่อกันหลายครั้งเหมือนอาฟเตอร์ช็อก และว่า ผลกระทบจากสงครามในยูเครนนั้นเกิดขึ้น “อย่างรวดเร็วรุนแรง” และส่งผลต่ออุปทานพลังงานและอาหารโลก ทั้งยังทำให้อัตราเงินเฟ้อทะยานสูงขึ้น
นายอาคิม สไตเนอร์ กล่าวเสริมว่า การที่รัฐบาลหลายประเทศประสบความล้มเหลวในการดำเนินการอย่างเด็ดขาด นำมาซึ่งความเสี่ยงของการเกิดความไม่สงบไปทั่ว เพราะความอดทนและความสามารถของผู้คนในการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มหมดไป
ผู้บริหารสูงสุดของ UNDP ยังได้ยกตัวอย่างกรณีของศรีลังกา ที่รัฐบาลกำลังเผชิญภาวะยุ่งเหยิงอย่างหนัก และทั้งประเทศกำลังประสบภาวะขาดแคลนพลังงานและอาหาร รวมทั้งการผิดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ด้วย