นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในคณะผู้ว่าการ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยวานนี้ (14 ก.ค.) ว่า เขาพร้อมที่จะพิจารณา ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% ในการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดที่กำลังจะมีขึ้นปลายเดือนนี้ (26-27 ก.ค.) หากข้อมูลเศรษฐกิจสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว แม้ว่าโดยส่วนตัว เขาสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.75% แต่ก็ยอมรับว่าจะจับตาข้อมูลเศรษฐกิจ และเปิดกว้างต่อการตัดสินใจเพื่อ ควบคุมเงินเฟ้อ
"การตัดสินใจสำหรับการประชุมในเดือนก.ค.จะขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจที่เข้ามา โดยเราจะได้รับข้อมูลยอดค้าปลีก และยอดขายบ้านก่อนที่จะถึงการประชุมเดือนนี้ ซึ่งถ้าข้อมูลเหล่านี้แข็งแกร่งกว่าที่คาด ผมก็จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่รุนแรงกว่าในเดือนมิ.ย." นายวอลเลอร์กล่าว
ถ้าหากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.0% ในเดือนนี้ ก็จะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย “ครั้งใหญ่ที่สุด” นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ธนาคารกลาง ในหลายประเทศตั้งแต่สหรัฐอเมริกาไปจนถึงสิงคโปร์ ต่างก็หันมาใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน ยกเว้นธนาคารกลางจีนและญี่ปุ่นซึ่งยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดย ณ สิ้นเดือนมิ.ย. ดัชนีชี้วัดนโยบายการเงินโลกรายเดือนซึ่งจัดทำโดย Council on Foreign Relations (CFR) อยู่ที่ระดับ +3.99 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากระดับ -8.7 ในเดือนธ.ค.ปี 2564
นายโจว หลาน หัวหน้าฝ่ายนโยบายการเงินของธนาคารกลางจีน (PBOC) เปิดเผยว่า จีนเองกำลังจับตาการดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกอย่างใกล้ชิด แต่ไม่ได้ส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในจีน ซึ่งมีการปรับลดลงเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่หลายประเทศส่วนใหญ่ปรับดอกเบี้ยขึ้นเพื่อพยายามสกัดกั้นเงินเฟ้อ
"เรากำลังจับตาธนาคารกลางของประเทศขนาดใหญ่หลายแห่งที่พร้อมใจกันใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินในขณะนี้" นายโจวกล่าว โดยเขาไม่ได้ระบุชื่อของธนาคารกลางของประเทศใดอย่างเฉพาะเจาะจง แต่กล่าวย้ำว่า PBOC ยังคงยึดแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินอย่างรอบคอบระมัดระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้มาตรการของธนาคารกลางในประเทศอื่น ๆ ส่งผลกระทบด้านลบต่อจีน โดยนโยบายของ PBOC นั้นรวมถึงการปรับระดับเงินสำรองสกุลเงินต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ และการจัดการเงินทุนหมุนเวียนข้ามพรมแดน
ทั้งนี้ นายโจวย้ำว่า นโยบายการเงินของจีนนั้น ส่วนใหญ่ถูกขับเคลื่อนโดยสถานการณ์ภายในประเทศจีนเอง เขามองว่า สภาพคล่องในประเทศจีนมีมากเพียงพอจนถึงขั้นมีส่วนเกินอยู่บ้าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นเล็กน้อยที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่า PBOC จะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินแบบรอบคอบระมัดระวังต่อไป และจะสนับสนุนการซื้อพันธบัตรเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
การแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) ข้างต้น มีขึ้นหลังจากธนาคารกลางทั่วโลกพากันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพิ่งประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา และมีความคาดหมายว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอีก 0.75-1.0% ในการประชุมเดือน ก.ค.นี้
ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 21 ก.ค.นี้
ทางด้านธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) เป็นอีกประเทศที่ประกาศใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินในวันนี้ (15 ก.ค.) ด้วยการปรับค่ากลาง (Re-centre the Mid-Point) ของกรอบอัตราแลกเปลี่ยน หรือที่เรียกว่า Nominal Effective Exchange Rate (NEER) เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
เมื่อวันพุธ (13 ก.ค.) ธนาคารกลางของเเคนาดาได้ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 1.0% เรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการขึ้นดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดนับตั้งเเต่ปี 1998 หรือสูงสุดในรอบ 24 ปีของแคนาดา ถัดมาวันที่ 14 ก.ค. ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 2.25% (จากเดิม 1.75%) ซึ่งเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2542 และธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 2.50% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 6 ติดต่อกัน โดยมีเป้าหมายที่จะควบคุมเงินเฟ้อที่พุ่งแรงเช่นกัน