นับเป็นครั้งเเรกที่ รัฐบาลอังกฤษ ประกาศ ภาวะฉุกเฉินแห่งชาติด้านอากาศ ในระดับรุนเเรงเช่นนี้สำหรับสภาพอากาศที่ร้อนจัด ขณะที่ "คลื่นความร้อน" (heat wave) ได้แผ่ปกคลุมหลายประเทศในยุโรป ณ ช่วงเวลานี้
สำนักอุตุนิยมวิทยาของอังกฤษระบุว่า ในวันจันทร์และอังคารนี้ (18-19 ก.ค.) อุณหภูมิในประเทศอาจสูงเเตะระดับ 40 องศาเซลเซียส หรือ 104 ฟาห์เรนไฮต์ ซึ่งความร้อนระดับดังกล่าวอาจทำให้ประชาชนที่ตามปกติมีสุขภาพเเข็งเเรงดี สามารถเจ็บป่วยรุนเเรงหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้
นิโคส คริสติดิส นักวิทยาศาสตร์ของสำนักอุตุนิยมวิทยาอังกฤษ เปิดเผยว่า ปัจจุบันโอกาสที่อุณหภูมิอากาศจะเข้าขั้นร้อนเทียบเท่าระดับดังกล่าวได้นั้น มีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิม 10 เท่า ท่ามกลางปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติ
สถิติอากาศร้อนก่อนหน้านี้อยู่ที่ 38.7 องศาเซลเซียส หรือ 101.7 ฟาห์เรนไฮต์ เมื่อ 3 ปีก่อน
ศาสตราจารย์ ไนเจล อาร์เนลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเรดิ้งของอังกฤษ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ประเทศอังกฤษต้องเตรียมพร้อมรับมือกับอากาศร้อนบ่อยขึ้นในอนาคต ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหานั้น สิ่งหนึ่งที่ทำได้คือ ควรมีการขยายพื้นที่ปลูกต้นไม้ และออกเเบบอาคารให้สามารถรับมือกับอากาศร้อนรุนเเรงได้
ขณะที่ในฝรั่งเศส สถานการณ์เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้น เพราะอากาศร้อนระอุแตะระดับทำลายสถิติที่ 40 องศาเซลเซียสแล้ว และยังมีไฟป่าลุกลามต่อเนื่องจากสภาวะความแห้งแล้งและความร้อน
กรมอุตุนิยมวิทยาฝรั่งเศส (MeteoFrance) รายงานว่า วันจันทร์ที่ 18 ก.ค.อาจเป็นหนึ่งในวันที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส โดยคาดว่าอุณหภูมิอาจสูงแตะระดับ 40 องศาเซลเซียสในภูมิภาคชายฝั่งซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว หลังจากที่ไฟป่าได้ทวีความรุนแรงขึ้นทางภาคตะวันตกและภาคใต้ของประเทศ
กรมอุตุนิยมวิทยาฝรั่งเศสระบุว่า จุดสูงสุดของคลื่นความร้อนระลอกนี้น่าจะอยู่ที่วันจันทร์นี้ (18 ก.ค.) พร้อมพยากรณ์ว่าอุณหภูมิน่าจะอยู่ที่ระหว่าง 40-42 องศาเซลเซียส และอาจพุ่งสูงยิ่งกว่านั้นในบางพื้นที่ทั่วชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกทางตะวันตกของฝรั่งเศส
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า สถิติอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดของฝรั่งเศสในปัจจุบันอยู่ที่ 29.4 องศาเซลเซียสในช่วงที่มีคลื่นความร้อนปี 2546 และ 2562
"คลื่นความร้อน" คืออะไร
คลื่นความร้อน หรือ ฮีตเวฟ (Heat Wave) เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ที่อากาศมีปริมาณความร้อนมากกว่าปกติอย่างรวดเร็วในระยะเวลาหนึ่ง และอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ อาจเกิดยาวนานเป็นเวลาไม่กี่วันหรือนานหลายสัปดาห์ ตามปกติการให้นิยามคำว่า "คลื่นความร้อน" ไม่สามารถระบุอุณหภูมิที่แน่นอนได้ว่าอุณหภูมิเท่าใดจึงจะเรียกว่าเป็นคลื่นความร้อน เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีอุณหภูมิของอากาศแตกต่างกัน และลักษณะของคลื่นความร้อนจะขึ้นกับลักษณะอากาศปกติของพื้นที่นั้น โดยอุณหภูมิของอากาศในพื้นที่ที่มีภูมิอากาศร้อนปกติ อาจเข้าข่ายเป็นคลื่นความร้อนสำหรับพื้นที่ที่มีอุณหภูมิปกติค่อนข้างต่ำก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) ได้กำหนดนิยามของคลื่นความร้อนเอาไว้ว่า หมายถึง ภาวะที่อุณหภูมิสูงสุดประจำวันเกินค่าอุณหภูมิสูงสุดโดยเฉลี่ยประมาณ 5 องศาเชลเซียส ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน
ยกตัวอย่างการเกิดคลื่นความร้อนตามนิยามของ WMO เช่น พื้นที่ A มีอุณหภูมิอากาศปกติที่ประมาณ 18-25 องศาเซลเซียส เมื่อมีการเคลื่อนที่ของมวลอากาศร้อนเข้ามาในพื้นที่ ทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเป็น 30-35 องศาเซลเซียสอย่างฉับพลัน ภายในเวลา 24 ชั่วโมง และอุณหภูมิสูงได้คงค่านี้เป็นเวลาหลายสัปดาห์ เราจึงจะเรียกว่าพื้นที่ดังกล่าวเกิดปรากฏการณ์ "คลื่นความร้อน"
คลื่นความร้อนเกิดขึ้นได้อย่างไร
การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิอากาศโดยคลื่นความร้อนสามารถเกิดได้ 2 รูปแบบ คือ
1. การเกิดคลื่นความร้อนแบบสะสมความร้อน
คลื่นความร้อนที่เกิดจากกรณีนี้ จะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ได้สะสมความร้อนเป็นเวลานาน พื้นที่มีความแห้งแล้ง ปราศจากเมฆและลมสงบนิ่งเป็นเวลาหลายวัน ส่งผลให้มวลอากาศร้อนไม่เคลื่อนที่ อุณหภูมิอากาศของพื้นที่นั้นจึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมวลอากาศร้อนจะมีสะสมจนกลายเป็นคลื่นความร้อน การเกิดคลื่นความร้อนรูปแบบนี้ มักเกิดในแอฟริกา ออสเตรเลีย อเมริกาเหนือ อินเดีย และปากีสถาน
2. การเกิดคลื่นความร้อนแบบพัดพาความร้อน
ในกรณีนี้ คลื่นความร้อนเกิดจากการมีลมแรงที่หอบมวลความร้อนจากทะเลทรายหรือเส้นศูนย์สูตร เข้ามาในพื้นที่ที่มีอากาศเย็นกว่าหรือพื้นที่เขตหนาว ส่งผลให้อุณหภูมิในพื้นที่นั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และอุณหภูมิจะยังสูงอยู่จนกระทั่งลมร้อนนั้นได้พัดผ่านไปหรือสลายตัวไปเองการเกิดคลื่นความร้อนรูปแบบนี้ มักพบในพื้นที่เขตหนาว เช่น แถบยุโรป
ผลกระทบจากคลื่นความร้อน
นับเป็นเรื่องโชคดีที่ยังไม่มีรายงานการเกิดคลื่นความร้อนในประเทศไทยเลย เพราะในบรรดาประเทศที่มีปรากฏการณ์ดังกล่าวล้วนได้รับผลกระทบมากมายจากความร้อนที่มีสะสมในพื้นที่จนทำให้อุณหภูมิอากาศสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในยุโรป และ เอเชีย เช่น จีน ปากีสถาน บังคลาเทศ และอินเดีย ที่มีความผิดปกติของอุณหภูมิอากาศค่อนข้างมาก โดยในบางพื้นที่ของเอเชียอาจมีอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 40 - 50 องศาเซลเซียส ในแต่ละปีจึงมีผู้คนทั่วโลกจำนวนหลายหมื่นคนที่เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับความร้อน (Heat-related illness) หรือจากการที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเพิ่มของอุณหภูมิที่สูงขึ้นสู่ระดับที่ร้อนจัดอย่างฉับพลันได้
ความเจ็บป่วยดังกล่าวทำให้ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจากปรากฏการณ์อากาศร้อนเพิ่มสูงตามไปด้วย นอกจากนี้ เรายังพบอีกว่าในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์คลื่นความร้อน ประชาชนต้องใช้พลังงานในอัตราสูงขึ้นมาก เนื่องจากต้องใช้เครื่องปรับอากาศเพื่อช่วยทำความเย็น ส่งผลให้บางพื้นที่ประสบกับปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า และทำให้เกิดผลกระทบอื่น ๆ อย่างต่อเนื่องตามมา
ผลพวงจากอุณหภูมิอากาศสูงขึ้น ยังทำให้สัตว์เจ็บป่วย-ล้มตายได้เช่นเดียวกับมนุษย์ ขณะที่พืชก็ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดี และถ้าพื้นที่มีสภาพแห้งแล้งและอุณหภูมิสูงมากอย่างต่อเนื่อง พืชก็อาจตายไต้ในที่สุด ในหลายพื้นที่จึงมีรายงานว่า คลื่นความร้อนทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายในปริมาณมาก และยังมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนอาหารของมนุษย์ได้ในที่สุด
ที่สำคัญก็คือ ความแห้งแล้งและอากาศที่ร้อนจัดของคลื่นความร้อนยังเป็นปัจจัยทำให้เกิดไฟป่าได้โดยง่าย สร้างความเสียหายทั้งต่อสิ่งแวดล้อม ชีวิตและทรัพย์สิน
คำเตือนระดับสีแดงของอังกฤษหมายถึงอะไร
คำเตือนระดับสีแดง หมายถึงสภาวะคลื่นความร้อนจะรุนแรงและยาวนาน จนส่งผลกระทบนอกเหนือไปจากระบบสาธารณสุขและสวัสดิการสังคม แม้แต่ผู้ที่มีสุขภาพดีก็อาจล้มป่วยและถึงกับเสียชีวิตได้ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาสุขภาพเท่านั้น
เนื่องจากความร้อนสูงอาจทำให้ถึงกับเสียชีวิตได้ คำเตือนสีแดงจึงครอบคลุมถึงคำเตือนให้ประชาชนจำเป็นต้องเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน เพื่อหลีกเลี่ยงความร้อน ขณะที่ในส่วนของภาครัฐ คาดว่าจะมีการออกคำสั่งจำกัดความเร็วรถไฟ โปรยทรายบนถนนเพื่อลดการหลอมละลาย โรงเรียนบางแห่งอาจหยุดการสอนเร็วขึ้น เป็นต้น
ก่อนหน้านี้ หน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ ได้ประกาศเตือนภัยอากาศร้อนเพียงระดับ 3 ซึ่งมีความรุนแรงรองจากระดับสีแดง หมายถึงให้บางพื้นที่ของประเทศเฝ้าระวังผลกระทบจากอากาศร้อน
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ยังเตือนด้วยว่า กลุ่มเปราะบางถือว่าอยู่ในความเสี่ยงท่ามกลางสถานการณ์คลื่นความร้อนที่แผ่ปกคลุมทั่วยุโรป เนื่องจากคลื่นความร้อน ส่งผลให้ระดับมลภาวะในอากาศเพิ่มสูงขึ้น และทำให้คุณภาพอากาศลดต่ำลงโดยเฉพาะในเขตเมือง
ข้อมูลจาก คลังความรู้ SciMath / สำนักข่าวเอพี /รอยเตอร์