วีโอเอ (Voice of America) สื่อใหญ่ของสหรัฐ รายงานว่า ภูมิภาคเอเชียใต้ กำลังเผชิญกับ คลื่นความร้อน ที่ไม่เพียงทำให้อุณหภูมิอากาศสูงขึ้น แต่ อากาศร้อน ยังส่งผลกระทบต่อ คุณภาพชีวิต และ สถานะการเงิน ที่ย่ำแย่อยู่แล้วของผู้ที่มีรายได้ต่ำ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
1. อากาศร้อนเกินกว่าที่จะทำงานได้
เดือนมีนาคมและเมษายนเป็น 2 เดือนที่ร้อนที่สุดหรือเกือบจะร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ของแถบเอเชียใต้ ตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาแห่งสหราชอาณาจักร การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้มีความเสี่ยงขึ้น 100 เท่าที่จะเกิดคลื่นความร้อนรุนแรง
คนกลุ่มหลักที่จำต้องเผชิญผลกระทบข้างต้นของอากาศที่ร้อนเกินกว่าจะทำงานได้ คือ แรงงานครึ่งหนึ่งของแถบเอเชียใต้ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะรับอาชีพทำงานกลางแจ้ง เช่น เกษตรกร หรือ คนงานก่อสร้าง
“คนที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายวันอย่างพวกผมต้องทำงานสู้แดด ถ้าไม่ทำ เราจะไม่มีอะไรกิน” คูสชิลา แมนดาล คนงานก่อสร้างในประเทศอินเดีย กล่าว
นอกจากนี้ การรับมือกับอากาศร้อนและความเสี่ยงต่อ โรคลมแดด (heatstroke) ด้วยการให้คนงานเลิกงานเร็วขึ้น หมายถึงชั่วโมงทำงานและรายได้ที่ลดลงของคนงาน
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ International Labor Organization ประเมินว่า ภายในปี ค.ศ. 2030 ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยจะลดลงเทียบเท่ากับการสูญเสียแรงงานที่ทำงานเต็มเวลาถึง 80 ล้านตำแหน่งเพราะอากาศที่ร้อนขึ้นทั่วโลก
2. รับค่าจ้างสำหรับงานกลางแจ้งได้น้อยลง
ธีวะรัต การ์ก นักเศรษฐศาสตร์แห่ง University of California-San Diego และผู้ร่วมโครงการวิจัยของเขา พบว่า ประสิทธิภาพการทำงานของคนงานกลางแจ้งในประเทศอินโดนิเซียนั้นต่ำกว่าคนที่ทำงานในร่มถึง 8%
เขากล่าวว่า การเพิ่มค่าจ้างก็ไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพงานของคนงานเหล่านี้ดีขึ้น เพราะสาเหตุหลักไม่ได้มาจากความขี้เกียจ แต่มาจากความร้อนเกินกว่าจะทำงานได้
3. การผลิตเกิดความล่าช้า
นอกจากนี้ ความร้อนยังทำให้คนงานในโรงงานผลิตสิ่งของได้ช้าลงด้วยเพราะพวกเขาเหนื่อยและมีสมาธิน้อยลง
แพทริค บีเรอ นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโลก กล่าวว่า คนส่วนใหญ่คิดว่างานด้านการผลิตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นข้างในอาคาร แต่จริงๆแล้ว การทำงานในอาคารไม่ได้หมายความว่าคนงานจะไม่ได้รับความอึดอัดจากความร้อน เพราะภายในอาคารอาจไม่มีเครื่องปรับอากาศ
4. บาดเจ็บระหว่างทำงานมากขึ้น
ประเด็นต่อมา คือความเสี่ยงในการบาดเจ็บ บีเรอระบุในงานวิจัยว่า คนงานที่ได้รับการบาดเจ็บระหว่างปฏิบัติหน้าที่สูงขึ้นถึง 10% ในวันที่อากาศร้อนเมื่อเทียบกับวันที่อากาศเย็นสบาย
สาเหตุเกิดจากการความเหนื่อยล้าจากอากาศร้อน ซึ่งกระทบค่าแรงที่เสียไปในวันที่คนงานบาดเจ็บหรืออาจร้ายแรงกว่าการเสียค่าแรง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการบาดเจ็บด้วย
5. กับดักความยากจน
ผลกระทบสำคัญลำดับสุดท้ายที่เกิดจากอากาศร้อน คือ วงจรกับดักความยากจนให้เกิดขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ เพราะประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่มีรายได้น้อยส่วนใหญ่นั้น โดยเฉพาะในแถบเอเชียใต้ มักทำงานที่อยู่กลางแจ้งหรือภาคเกษตรกรรม ความร้อนที่เพิ่มขึ้นจึงทำให้พืชผลไม่งอกงามเหมือนเมื่อก่อน และทำให้รายได้ลดน้อยลงไป ซ้ำประชากรกลุ่มนี้ยังไม่มีกำลังทรัพย์พอที่จะซื้อเครื่องปรับอากาศด้วย
การ์ก พบว่า ลูกหลานของคนงานในชนบทเหล่านี้มักทำคะแนนด้านการคำนวณและอ่านได้ต่ำในปีที่มีอากาศร้อน ซึ่งอาจเป็นเพราะครอบครัวของนักเรียนกลุ่มนี้มีรายได้น้อยลง จึงไม่สามารถนำเงินมาใช้จ่ายค่าเล่าเรียน ซื้ออาหาร หรือกระทั่งดูแลสุขภาพของพวกเขาได้
และแม้โรงงานจะสามารถซื้อเครื่องปรับอากาศมาติดตั้งเพื่อบรรเทาความร้อนให้แก่คนงานได้ แต่นั่นก็หมายความว่า งบสำหรับซื้ออุปกรณ์ใหม่ที่ดีกว่าหรือจ้างคนงานเพิ่มขึ้นก็จะหมดไปด้วย
เขากล่าวต่อว่า อีกทางออกหนึ่งอาจมาจากสวัสดิการของรัฐ ที่มอบให้กับชาวนาในประเทศ เป็นต้น
แต่ท่ามกลางอากาศร้อนขึ้นเรื่อยทุกวัน ๆ ความต้องสวัสดิการจากรัฐก็ได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะประชากรที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง จึงเห็นได้ชัดว่าประเทศต่าง ๆ ล้วนมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป
ที่มา: วีโอเอ