กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศวานนี้ (26 ก.ค.) ปรับลด ตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ในปี 2565 และ 2566 โดยเตือนว่า เศรษฐกิจโลก มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย ท่ามกลางความเสี่ยงจาก เงินเฟ้อ ที่พุ่งขึ้นมาก ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่รุนแรงกว่าที่คาดไว้ รวมทั้งผลกระทบจาก สงครามรัสเซีย-ยูเครน
ทั้งนี้ IMF ได้เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ฉบับเดือน ก.ค.โดยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัว 3.2% ในปี 2565 ก่อนที่จะชะลอตัวสู่ 2.9% ในปี 2566 ซึ่งเป็นการปรับลดลง 0.4% และ 0.7% ตามลำดับ จากที่เคยคาดการณ์ไว้เดิมในรายงานฉบับเดือนเม.ย.
สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา IMF ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวลงสู่ระดับ 2.3% ในปี 2565 และ 1.0% ในปี 2566 ขณะที่คาดว่า เศรษฐกิจจีนจะยังคงขยายตัว 3.3% ในปีนี้ ซึ่งก็เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 40 ปี และปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจอินเดียสู่ระดับ 7.4% ในปีนี้
นอกจากนี้ IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจยูโรโซนสู่ระดับ 2.6% ในปี 2565
ส่วนประเทศคู่สงครามรัสเซีย-ยูเครน IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจรัสเซียจะหดตัว -6.0% ในปี 2565 และ -3.5% ในปี 2566 โดยได้รับผลกระทบจากบรรดามาตรการคว่ำบาตรทั้งจากสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตก ขณะที่เศรษฐกิจยูเครนจะหดตัวมากถึง -45% ในปี 2565
IMF ยังเตือนด้วยว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะผลักดันให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้น โดยเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะแตะระดับ 6.6% ในปีนี้ ส่วนเงินเฟ้อในตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาจะพุ่งแตะระดับ 9.5%
รายงานของ IMF ชี้ว่า แรงช็อคหลายครั้งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่อ่อนตัวลงอยู่แล้วเพราะภาวะการระบาดใหญ่ของโควิด-19 รวมทั้งแรงช็อคจากอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่สูงเกินคาด โดยเฉพาะในสหรัฐ และหลายประเทศหลัก ๆ ในยุโรป ส่งผลให้เกิดภาวะตึงตัวทางการเงิน นอกจากนี้ยังมีแรงช็อคจากการชะลอตัวรุนแรงเกิดคาดในจีน ซึ่งสะท้อนภาพการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และคำสั่งล็อกดาวน์ รวมทั้งแรงช็อคจากผลกระทบทางลบจากสงครามในยูเครน
ขณะเดียวกัน IMF ชี้ว่า สงครามในยูเครนอาจนำไปสู่การตัดสินใจของรัสเซียที่จะหยุดการส่งออกก๊าซธรรมชาติไปยังประเทศต่าง ๆ ในยุโรป และหากเป็นเช่นนั้น เงินเฟ้ออาจรุนแรงขึ้นเกินคาด จนไม่สามารถแก้ไขผ่อนคลายได้ง่าย ๆ
และหากมองในสมมุติฐานภาพจำลองสถานการณ์โลกระดับเลวร้ายที่สุด IMF ระบุว่า เศรษฐกิจโลกอาจขยายตัวเพียง 2.6% ในปีนี้ และเหลือเพียง 2% ในปีหน้าก็เป็นได้
การปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกโดย IMF ครั้งล่าสุดนี้มีขึ้นขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำลังเริ่มต้นการประชุมเป็นเวลา 2 วัน (26-27 ก.ค.) ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่า จะจบลงด้วยการประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% เพื่อช่วยรับมือกับภาวะเงินเฟ้อในประเทศ