สื่อต่างประเทศรายงานความคืบหน้าของ โครงการรถไฟฟ้าโดยสารความเร็วสูง เฟสแรกของ อินโดนีเซีย ว่าทางพันธมิตรโครงการ คือฝ่าย จีน ได้เริ่มการจัดส่งรถไฟฟ้าความเร็วสูงดังกล่าว รวมทั้งระบบตรวจสอบรถไฟที่ผลิตสำหรับทาง รถไฟความเร็วสูง เส้นทางวิ่งระหว่าง เมืองจาร์กาตา-บันดุง ให้กับอินโดนีเซียแล้ว โดยสินค้าเดินทางออกจากท่าเรือชิงเต่า มณฑลซานตงทางภาคตะวันออกของประเทศจีน เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (21 ส.ค.)
สำนักข่าวซินหัว สื่อใหญ่ของจีนรายงานว่า บริษัทซีอาร์อาร์ซี ชิงเต่า ซื่อฟาง โค จำกัด เป็นผู้ออกแบบและผลิตรถไฟดังกล่าว เพื่อใช้ในโครงการสำคัญภายใต้ความริเริ่ม Belt and Road Initiative หรือ BRI ของจีน ที่รู้จักกันในนาม “เส้นทางสายไหมยุคใหม่”
ทั้งนี้ รถไฟชุดแรกมีกำหนดเดินทางถึงกรุงจาการ์ตาภายในสิ้นเดือนส.ค.นี้ จากนั้นฝ่ายจีนจะมีการจัดส่งรถไฟส่วนที่เหลือโดยแบ่งออกเป็นชุด ๆ จนกว่าจะแล้วเสร็จภายในช่วงต้นปีหน้า ( พ.ศ.2566)
ด้วยการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยของรถไฟหัวกระสุนฟู่ซิง รถไฟดังกล่าวจึงมีความเร็วในการเดินรถสูงสุด 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยได้รับการออกแบบและผลิตตามมาตรฐานจีน โดยประยุกต์ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมการดำเนินงานระดับท้องถิ่นและสอดคล้องกับเงื่อนไขต่าง ๆ ในอินโดนีเซีย รวมถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย
สำหรับข้อมูลสังเขปของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่จะวิ่งระหว่างเมืองจาการ์ตา-เมืองบันดุง นั้น มีระยะทางทั้งสิ้น 142 กิโลเมตร เป็นการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างกรุงจาการ์ตา เมืองหลวง และเมืองบันดุง ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวเลื่องชื่อในอินโดนีเซีย
เป็นที่คาดหมายว่า การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทางดังกล่าวจะเสร็จสิ้นภายในเดือนมิ.ย.ปีหน้า (2023) เมื่อเปิดใช้บริการ จะทำให้สามารถย่นระยะเวลาการเดินทางระหว่างทั้งสองเมืองจากเดิมกว่า 3 ชั่วโมง เหลือเพียงประมาณ 40 นาทีเท่านั้น ทั้งขบวนรถสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 601 คน มีตู้รถเฟิร์สต์คลาส 1 ตู้ ตู้สเบียงอาหาร 1 ตู้ และตู้โดยสารชั้นสอง 6 ตู้