สำนักประธานาธิบดีของอินโดนีเซียเปิดเผยวันนี้ (13 ก.ย.) ว่า รัฐบาลกำลังเตรียมทบทวนกฎเกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำและกฎด้านแรงงานอื่น ๆ หลังจากสหภาพแรงงานในอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ ได้จัดการชุมนุมทั่วประเทศ เพื่อต่อต้านการปรับขึ้นราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่รายได้ของแรงงานยังคงเท่าเดิม พวกเขายังเรียกร้องให้มีการปรับสูตรการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำประจำปี เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงด้วย
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ประธานาธิบดีโจโก วิโดโดของอินโดนีเซียได้ปรับขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงถึง 30% เมื่อต้นเดือน ก.ย.นี้ เพื่อควบคุมงบประมาณที่พุ่งขึ้นในการอุดหนุนด้านพลังงาน ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลให้แรงงานและนักศึกษาออกมาชุมนุมประท้วงทั่วประเทศ
ทั้งนี้ การปรับขึ้นราคาน้ำมันได้เร่งให้เกิดเงินเฟ้อในอินโดนีเซียซึ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2558 ซ้ำเติมสภาวะราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นด้วย
นายเฮรู บูดี ฮาร์โตโน หัวหน้าสำนักประธานาธิบดีของอินโดนีเซียได้ประชุมกับผู้ประท้วงที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงจาการ์ตาเมื่อวันจันทร์ (12 ก.ย.) เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของพวกเขา
หลังจากนั้น นายเฮรูได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า ตัวแทนแรงงานได้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงสูตรที่รัฐบาลใช้เพื่อกำหนดการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำประจำปี พร้อมเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงกฎหมายการสร้างงาน (Job Creation law) ที่อนุมัติเมื่อปี 2563 เนื่องจากสหภาพแรงงานมองว่ากฎหมายดังกล่าวเอื้อต่อกลุ่มธุรกิจมากเกินไป
ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดฯ จะดำเนินการทบทวนข้อเรียกร้องของแรงงานในวันนี้ (13 ก.ย.)
นายเฮอมันโต ฮาเหม็ด เลขาธิการสหภาพแรงงาน KSPSI ได้อ้างแถลงการณ์ที่ระบุว่า ราคาพลังงานที่สูงขึ้นขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบราคาสินค้าจำเป็นอื่นๆ สร้างแรงกดดันให้กับค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งเป็นเหตุผลที่รัฐบาลรับข้อเรียกร้องเพื่อพิจารณาขึ้นค่าแรง
สื่อรายงานว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและเงินเฟ้อในปี 2564 ที่พุ่งขึ้นของอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศขนาดใหญ่ มีประชากร 270 ล้านคน เป็นผลจากโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ขณะที่เงินค่าแรงขั้นต่ำในปีนี้ เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยที่ 1.09% เท่านั้น