สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลสหรัฐ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาทางเลือกใน มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ ต่อ จีน เพื่อหวังขัดขวางไม่ให้เข้ารุกราน ไต้หวัน ขณะที่ สหภาพยุโรป (อียู) ก็ได้รับแรงกดดันด้านการทูตจากรัฐบาลไทเปให้ช่วยหยุดยั้งการกระทำในเชิงข่มขู่คุกคามของจีนด้วยเช่นกัน
แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับการหารือในประเด็นนี้เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า มีการเคลื่อนไหวจากฝั่งรัฐบาลสหรัฐและรัฐบาลไต้หวัน ที่ต่างแยกกันวิ่งเต้นกับทางทูตอียู เพื่อผลักดันให้อียูใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อจีนให้มากกว่าเดิมท่ามกลางความกังวลเรื่องการรุกรานไต้หวันของจีน ซึ่งในช่วงเดือนที่ผ่านมาจีนได้ยกระดับการซ้อมรบทั้งทางน้ำและทางอากาศบริเวณช่องแคบไต้หวัน
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวไม่ได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการที่จะกดดันจีนเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐกำลังพิจารณาทางเลือกที่เป็นไปได้ในการคว่ำบาตรจีน เพื่อขัดขวางความพยายามของประธานาธิบดีสี จิ้งผิง ในการรุกรานไต้หวัน และการหารือเรื่องดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากนั้นก็ขยับมาเป็นประเด็นเร่งด่วนหลังการเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
นายนาซัค นิคัตห์ตาร์ อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐให้ความเห็นว่า การบังคับใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อจีนที่เป็นไปได้ มีความซับซ้อนมากกว่าการใช้มาตรการลงโทษกับรัสเซีย เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่า สหรัฐและชาติพันธมิตร มีความเกี่ยวพันทางเศรษฐกิจกับจีนเป็นอย่างมาก
นักวิเคราะห์ที่ไม่มีบทบาทในรัฐบาลอเมริกันยังให้ทัศนะกับรอยเตอร์ด้วยว่า ทำเนียบขาวกำลังเน้นการปรับจูนนานาประเทศทั้งในยุโรปและเอเชีย ให้เห็นพ้องต้องกันในความสำคัญของการขัดขวางไม่ให้จีนรุกรานไต้หวัน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องหลีกเลี่ยงการยั่วยุจีน
เครก ซิงเกิลตัน จากมูลนิธิ Foundation for Defense of Democracies ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองในกรุงวอชิงตัน มองว่า หากมองในภาพใหญ่ การหารือเรื่องมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจในกรอบเบื้องต้น มีแนวโน้มที่จะเป็นการลดการเข้าถึงเทคโนโลยีบางประเภทที่จีนอาจจำเป็นต้องใช้ในปฏิบัติการทางทหารกับไต้หวัน
ด้านทำเนียบขาว ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าว ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศจีนและสถานทูตจีนประจำกรุงวอชิงตัน ไม่ได้ออกมาให้ความเห็นต่อประเด็นเดียวกัน ในช่วงเวลาที่มีการรายงานข่าวนี้
ไต้หวันเอง พยายามเดินหน้าหารือเรื่องมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อจีนกับเจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรป (อียู) ด้วยเช่นกัน ทั้งยังเรียกร้องให้เตรียมใช้มาตรการลงโทษต่อจีนเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังจากรายงานสมุดปกขาวของจีนได้เพิกถอนคำมั่นสัญญาที่จะไม่ส่งทหารเข้ามายังไต้หวันหากจำเป็น
ทางกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน ระบุว่า ไต้หวันได้หารือเรื่องการซ้อมรบของจีนและความท้าทายครั้งใหญ่ของจีนที่มีต่อไต้หวันและในภูมิภาค นั่นหมายถึงการหารือทั้งกับสหรัฐ ยุโรป และประเทศหุ้นส่วนอื่น ๆ ของไต้หวัน แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดในเรื่องนี้