นายจอห์น เคอร์บี โฆษกทำเนียบขาว เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่า สหรัฐอเมริกา จำเป็นต้องประเมินความสัมพันธ์ใหม่กับ ซาอุดีอาระเบีย หลังการตัดสินใจดังกล่าวของ โอเปกพลัส ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตรที่รวมทั้งรัสเซีย
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐจะหารือร่วมกับสภาคองเกรสเพื่อกำหนดความสัมพันธ์ในอนาคตกับซาอุดีอาระเบียที่เป็นพันธมิตรรายสำคัญของสหรัฐในกลุ่มประเทศอาหรับ
ที่ผ่านมา สหรัฐพยายามกดดันซาอุดีอาระเบียและโอเปกพลัสให้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน เนื่องจากปธน.ไบเดนกังวลว่าราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นจะกระทบต่อคะแนนนิยมของรัฐบาลก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนหน้า (พ.ย.)
อย่างไรก็ดี สัปดาห์ที่แล้ว โอเปกพลัสได้ตัดสินใจทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความต้องการของสหรัฐ โดยได้มีมติปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 2 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนพ.ย.นี้ ซึ่งจะเป็นการปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2563 และเป็นการปรับลดกำลังการผลิตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2
อ่านเพิ่มเติม: “โอเปกพลัส” มีมติหั่นกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรล/วัน ดันราคาน้ำมันในตลาด
ก่อนหน้านี้ นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาว และนายไบรอัน ดีส ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ ได้ระบุในแถลงการณ์ร่วมว่า ปธน.ไบเดน รู้สึกผิดหวังกับการตัดสินใจของโอเปกพลัส ในการปรับลดโควตาการผลิตน้ำมันลงมา (ซึ่งจะดันให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น) ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังคงต้องเผชิญกับผลกระทบด้านลบของการรุกรานยูเครนโดยประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย
“ในช่วงเวลาที่การรักษาไว้ซึ่งอุปทานพลังงานโลกมีความสำคัญอย่างยิ่ง การตัดสินใจเช่นนั้น จะส่งผลกระทบด้านลบอย่างที่สุดต่อประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ ที่กำลังประสบปัญหาใหญ่จากราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง” แถลงการณ์ของที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาวระบุ
ในการปรับลดกำลังการผลิตครั้งนี้ โอเปกพลัสประกาศว่า จะส่งผลให้ปริมาณน้ำมันที่ผลิตต่อวันลดลงจาก 43.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 41.8 ล้านบาร์เรล และจะมีผลตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป
การปรับลดกำลังการผลิตครั้งนี้เป็นครั้งแรกของโอเปก นับตั้งแต่มีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2020