ข่าวร้ายทวิตเตอร์! “อีลอน มัสก์” จ่อลดพนักงานกว่า 5 พันคนหลังซื้อกิจการ

21 ต.ค. 2565 | 04:19 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2565 | 11:29 น.

อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งเทสลาและสเปซเอ็กซ์ เผยข่าวร้ายหากการซื้อขายกิจการทวิตเตอร์สำเร็จลุล่วงในวันศุกร์หน้า (28 ต.ค.) เขามีแผนจะปรับลดจำนวนพนักงานของ “ทวิตเตอร์” ลง 75% ของที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือลดลงกว่า 5,000 คน

 

นายอีลอน มัสก์ ประกาศการกลับมาซื้อกิจการ “ทวิตเตอร์” อีกครั้งในราคาเดิม 54.20 ดอลลาร์ต่อหุ้น รวมเป็นมูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 1.6 ล้านล้านบาท) เมื่อเร็ว ๆนี้ หลังจากเคยพับแผนไปครั้งหนึ่งแล้ว ล่าสุด (20 ต.ค.)  เขาเปิดเผยกับนักลงทุนว่า มีแผนจะ ปรับลดจำนวนพนักงาน ของบริษัททวิตเตอร์ลงมากถึง 75%

 

นี่เป็นข่าวร้ายสำหรับพนักงานทวิตเตอร์ เพราะหากนายมัสก์ทำจริงอย่างที่พูด จะทำให้บริษัททวิตเตอร์เหลือพนักงานไม่ถึง 2,000 คนจากเดิมที่มีอยู่ราว 7,500 คน

 

ที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ไม่เคยทำกำไรได้เท่ายักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียรายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น เมตา (Meta) หรือ สแนป (Snap) แผนการของอีลอน มัสก์ แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงชนิดสุดโต่งที่เขาจะนำมาสู่ทวิตเตอร์ ท่ามกลางความท้าทายในการทำให้ทวิตเตอร์มีกำไรมากขึ้น

นายอีลอน มัสก์

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า อีลอน มัสก์ จะเข้าซื้อกิจการหรือไม่ ทางทวิตเตอร์เองก็มีแผนปรับลดพนักงานอยู่แล้ว เนื่องจากธุรกิจของบริษัทชะลอตัวอย่างมาก โดยเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ทวิตเตอร์เพิ่งประกาศชะลอการจ้างงานใหม่

 

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในวงกว้าง ซึ่งหลายๆ บริษัทนอกจากทวิตเตอร์ ก็ได้ประกาศเลิกจ้างและหยุดหรือชะลอการจ้างงานเช่นกัน

 

ข้อมูลจากเอกสารของบริษัทและจากการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง ระบุว่า เดิมคณะผู้บริหารของทวิตเตอร์ชุดปัจจุบันมีแผนจะลดต้นทุนการจ้างพนักงานลง 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 30,000 ล้านบาท) ภายในสิ้นปีหน้า (2566) หรือลดพนักงานลงราว 25% รวมถึงแผนลดต้นทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ระบบฐานข้อมูลที่ทำให้แพลตฟอร์มสามารถรองรับผู้ใช้มากกว่า 200 ล้านคนในแต่ละวันได้ เป็นต้น

 

รายงานดังกล่าวเป็นการตอบคำถามว่า เหตุใดทวิตเตอร์จึงกระตือรือร้นที่จะขายกิจการให้กับอีลอน มัสก์

 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าหากมีการปรับลดพนักงานดังกล่าวข้างต้น จะส่งผลกระทบต่อทวิตเตอร์อย่างแน่นอน โดยเฉพาะในด้านการควบคุมเนื้อหาที่เป็นอันตราย และการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งเป็นจุดที่ทวิตเตอร์ถูกโจมตีมาโดยตลอด

 

นายเอ็ดวิน เฉิน นักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูล ซึ่งเคยดูแลเรื่องสแปมและเมตริกให้ทวิตเตอร์ เปิดเผยว่า ผลกระทบของการเลิกจ้างดังกล่าวน่าจะเห็นได้ชัดในทันที แม้โดยส่วนตัวเขาจะเชื่อว่าทวิตเตอร์มีพนักงานมากเกินไป แต่แผนการลดพนักงานถึง 75% ของอีลอน มัสก์ เป็นสิ่งที่ “เป็นไปไม่ได้” และจะทำให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์เสี่ยงต่อการถูกแฮกและเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมได้ง่ายขึ้น

 

นายฌอน เอ็ดเจ็ตต์ นิติกรของทวิตเตอร์ได้แจ้งต่อพนักงานบริษัทวานนี้ (20 ต.ค.) ว่า บริษัทยังไม่ได้รับการยืนยันเรื่องแผนการของอีลอน มัสก์ ส่วนแผนลดพนักงาน 25% ของบริษัทเองนั้น ขณะนี้ถูกระงับชั่วคราวแล้ว จนกว่าดีลการซื้อขายกิจการครั้งนี้จะเสร็จสิ้น

 

ในส่วนของระบบการสื่อสารภายในองค์กรของทวิตเตอร์เอง พนักงานต่างแสดงความไม่พอใจ และท้อใจ บ้างก็ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน รายงานข่าวระบุว่า นายอีลอน มัสก์ กับผู้บริหารของทวิตเตอร์จะปิดดีลเจรจาให้แล้วเสร็จภายในวันศุกร์หน้า (28 ต.ค.) ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยดี นายมัสก์ ก็จะได้เป็นเจ้าของบริษัททวิตเตอร์โดยสมบูรณ์