"อีลอน มัสก์" จ่อเก็บ 300 บาท/เดือน จากผู้ใช้บริการ "ยืนยันตัวตน" บนทวิตเตอร์

02 พ.ย. 2565 | 05:39 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ย. 2565 | 12:47 น.

“อีลอน มัสก์” นายใหม่ทวิตเตอร์ เสนอไอเดียเก็บเงิน 8 ดอลลาร์/เดือน หรือราว ๆ 304 บาท จากผู้ใช้ทวิตเตอร์เป็นค่าบริการเครื่องหมาย "ยืนยันตัวตน" หรือ Blue Check Mark 

 

นายอีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งบริษัทเทสลาและสเปซเอ็กซ์ ที่เพิ่งจบดีลซื้อกิจการ บริษัททวิตเตอร์ สื่อสังคมออนไลน์ชื่อดัง ด้วยข้อตกลงมูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผุดไอเดียยกเครื่อง กระบวนการยืนยันตัวตน (Verification process) ของ ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ เมื่อวันอังคาร (1 พ.ย.) โดย CNBCรายงานว่า นายมัสก์ได้วิพากษ์วิจารณ์ระบบยืนยันตัวตนในปัจจุบันของทวิตเตอร์ผ่านทางบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัว ซึ่งเป็นการมอบ "เครื่องหมายถูกสีขาวบนพื้นหลังสีฟ้า" (Blue check mark) เพื่อเป็นการยืนยันตัวตน (Verification) ให้กับบรรดาผู้ใช้งานทวิตเตอร์ที่มีชื่อเสียงรวมทั้งองค์กรต่าง ๆ  

 

เครื่องหมายดังกล่าวเป็นการยืนยันตัวตนให้กับบรรดาผู้ใช้งานทวิตเตอร์ที่มีชื่อเสียง เช่น นักการเมือง ศิลปินดารา สื่อมวลชน ผู้บริหาร รวมถึงบุคคลและองค์กร เพื่อยืนยันว่าผู้ใช้งานบัญชีทวิตเตอร์เหล่านี้ “เป็นตัวจริงเสียงจริง” ไม่ใช่บัญชีที่บุคคลอื่นตั้งขึ้นมาเพื่อแอบอ้าง ทั้งนี้ เครือข่ายสังคมออนไลน์อื่น ๆ เช่น เฟซบุ๊กและอินสตาแกรมของบริษัทเมตาก็มีระบบยืนยันตัวตนลักษณะเดียวกัน

"เครื่องหมายถูกสีขาวบนพื้นหลังสีฟ้า" (Blue check mark) เครื่องหมายยืนยันตัวตนของทวิตเตอร์

 

นายมัสก์ระบุว่า เขาจะมอบ "อำนาจให้แก่ผู้คน" ด้วยการเสนอบริการ "การยืนยันตัวตน" ผ่านการสมัครสมาชิกบริการทวิตเตอร์บลู (Twitter Blue) ที่มีค่าธรรมเนียม 8 ดอลลาร์ต่อเดือน โดยผู้ใช้บริการดังกล่าวจะได้รับความสำคัญเป็นอันดับแรกในฟังก์ชัน "การเอ่ยถึง" (Mention) รวมถึง การตอบกลับ (Reply) และการค้นหา (Search)

 

นอกจากนี้ ยังจะได้รับโฆษณาน้อยลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับผู้ใช้งานที่ไม่ได้ใช้บริการทวิตเตอร์บลู อีกทั้งยังจะสามารถโพสต์วิดีโอและข้อความเสียงแบบยาวได้อีกด้วย

 

อีลอน มัสก์ นายใหญ่คนใหม่ของทวิตเตอร์ ผู้ที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงมากมายในองค์กร

นายมัสก์กล่าวเสริมว่า แท็กรอง (Secondary tag) จะปรากฏด้านล่างชื่อของผู้ใช้งานที่เป็นบุคคลสาธารณะ ซึ่งนายมัสก์ระบุว่า ปัจจุบันปรากฏอยู่บนบัญชีทวิตเตอร์ของบรรดานักการเมือง

 

นายใหม่ของทวิตเตอร์เปิดเผยด้วยว่า ผู้ใช้บริการทวิตเตอร์บลูจะได้รับสิทธิ์ "เลี่ยงกำแพงจ่ายเงิน" (Paywall bypass) ในการเข้าชมเนื้อหาของบรรดาผู้เผยแพร่ที่ตกลงร่วมเป็นพันธมิตรกับทวิตเตอร์ โดยเขาอ้างว่า วิธีการนี้จะช่วย "ทำลายบ็อต" ด้วยการเพิ่ม "ต้นทุนทางอาชญากรรมบนทวิตเตอร์ตามลำดับความสำคัญที่หลากหลาย" พร้อมเสริมว่า บัญชีผู้ใช้งานทวิตเตอร์บลูที่เกี่ยวข้องกับสแปมจะถูกระงับบัญชีด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงหรือไม่

 

ด้านเว็บไซต์เดอะ เวิร์จ (The Verge) ที่เพิ่งเผยแพร่รายงานเมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า นายมัสก์กำลังพิจารณาเก็บค่าบริการสมาชิกทวิตเตอร์บลูสูงถึง 19.99 ดอลลาร์ต่อเดือน โดยพนักงานทวิตเตอร์ที่รับผิดชอบโปรเจกต์ดังกล่าวมีเวลาถึงวันที่ 7 พ.ย.นี้ ในการเปิดตัวฟีเจอร์ดังกล่าว หากดำเนินการไม่สำเร็จก็จะถูกไล่ออก

 

ปัจจุบัน นายอีลอน มัสก์ ได้ขึ้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของทวิตเตอร์อย่างเป็นทางการแล้ว หลังจากที่เขาได้ครอบครองกิจการทวิตเตอร์ และหนึ่งในภารกิจแรกที่เขาทำก็คือการปลดผู้บริหารชุดเก่าบางคนออก ซึ่งรวมทั้งนายปารัก อะกราวาล ซีอีโอทวิตเตอร์ นายเน็ด ซีกัล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน และนายวิจายา แกดเด ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายและนโยบาย