เปิดประวัติ ไช่ อิงเหวิน ปธน.ไต้หวัน หลังขาเก้าอี้สั่น แพ้เลือกตั้งท้องถิ่น

28 พ.ย. 2565 | 00:27 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ย. 2565 | 08:29 น.

ปรากฏการณ์ขาเก้าอี้สั่นเกิดขึ้นกับ "ไช่ อิงเหวิน" ปธน.ไต้หวัน หลังพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล พ่ายยับเยินให้กับพรรคฝ่ายค้านในการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อวันเสาร์ (26 พ.ย.) ทำให้นางไช่ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพื่อแสดงความรับผิดชอบ

 

นางไช่ อิงเหวิน เป็น ประธานาธิบดีสตรีคนแรกของสาธารณรัฐจีน หรือ ไต้หวัน เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ปี 2016 (พ.ศ.2559) หลัง พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party: DPP) ที่เธอเป็นหัวหน้าพรรค ชนะการเลือกตั้งทั่วไป  และเธอก็ได้เป็นตัวแทนของพรรคเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งเมื่อ ค.ศ. 2016

 

เธอศึกษาร่ำเรียนในไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ สำเร็จเป็นนิติศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน นิติศาสตรมหาบัณฑิตจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ และดุษฎีบัณฑิตจากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน

 

หลังกลับไต้หวันในปี 1984 ไช่ อิงเหวินเริ่มงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยหลายแห่ง  ต่อมาปี ค.ศ. 1993 พรรคชาตินิยม ซึ่งเป็นรัฐบาลในเวลานั้น แต่งตั้งเธอเป็นข้าราชการหลายตำแหน่ง รวมถึงตำแหน่งประธานกรรมการร่างนโยบายว่าด้วย "หนึ่งชาติหนึ่งแดน" ในสมัยประธานาธิบดีหลี่ เติงฮุย

 

เมื่อเฉิน ฉุ่ยเปี่ยนได้เป็นประธานาธิบดีในค.ศ. 2000 ไช่ อิงเหวิน ในฐานะผู้มิได้สังกัดพรรคการเมืองได้รับเชิญเป็นรัฐมนตรีสภากิจการแผ่นดินใหญ่ และอยู่ในตำแหน่งนี้ตราบเท่าวาระแรกของประธานาธิบดีเฉิน ต่อมา เธอจึงเข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP)ในปี 2004 และในช่วงสั้น ๆ เธอได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติประเภทมิได้มาจากเขตเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า

ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ผู้นำไต้หวัน

ไช่ อิงเหวิน ได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีในสมัยที่นายซู เจินชาง เป็นนายกรัฐมนตรี เธอดำรงตำแหน่งนี้จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีลาออกยกคณะในปี 2007

 

เส้นทางการเมืองของไช่ อิงเหวิน เริ่มพลิกผันหลังพรรค DPP พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2008 เธอจึงได้รับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรค

 

เดือนเมษายน 2011 เธอได้รับเลือกเป็นตัวแทนของพรรค DPP เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งปี 2012 แต่ในการเลือกตั้งครั้งนั้น เธอพ่ายแพ้นายหม่า อิงจิ่ว จากพรรคชาตินิยม ไช่ อิงเหวิน จึงกลับมาขอท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งในการเลือกตั้งประจำปี 2016 ซึ่งครั้งนี้ เธอทำสำเร็จ ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้น และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2016 เป็นต้นมา

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่พรรค DPP พ่ายแพ้การเลือกตั้งท้องถิ่น (เพื่อชิง 21 เก้าอี้) เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (26 พ.ย.) โดยผลการเลือกตั้งที่ประกาศโดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งไต้หวันชี้ว่า  

  • พรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเป็นฝ่ายค้านกวาดไป 13 ที่นั่ง
  • พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ที่มีนางไช่ อิงเหวิน เป็นหัวหน้าพรรคและเป็นพรรครัฐบาลได้ไปเพียง 5 ที่นั่ง
  • พรรคประชาชนไต้หวัน  1 ที่นั่ง
  • อีก 2 ที่นั่งเป็นของผู้สมัครอิสระ

 

การพ่ายแพ้ที่ยับเยินนี้ ทำให้ไช่ อิงเหวิน ตัดสินใจประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้ดังกล่าว

 

ในมุมมองของนักวิเคราะห์ ผลการเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนถึงความกังวลของชาวไต้หวันเกี่ยวกับท่าทีแข็งกร้าวของปธน.ไช่ อิงเหวินที่มีต่อจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต้อนรับนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ที่เดินทางเยือนไต้หวันเมื่อเดือนส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่จีนอย่างมาก ชาวไต้หวันจึงหันไปเลือกพรรคก๊กมินตั๋งที่เป็นมิตรกับจีนมากกว่าแทน

 

ขณะที่นาง  จู เฟิงเหลียน โฆษกหญิงประจำสำนักงานกิจการไต้หวันแห่งคณะมุขมนตรีจีน ให้ความเห็นเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในไต้หวันว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ในไต้หวันต้องการสันติภาพ ความมั่นคง และคุณภาพชีวิตที่ดี

 

โฆษกฝ่ายจีนยังกล่าวเสริมว่า จีนแผ่นดินใหญ่จะทำงานร่วมกับประชาชนชาวไต้หวันต่อไป เพื่อสนับสนุนการพัฒนาความสัมพันธ์แบบบูรณาการด้วยสันติวิธี ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทั้งสองฟากฝั่งของช่องแคบไต้หวัน พร้อมกับยืนยันว่าจีนต่อต้าน "เอกราชของไต้หวัน" และการแทรกแซงของต่างชาติ

 

การเลือกตั้งท้องถิ่นของไต้หวันครั้งล่าสุด จึงถือเป็นการวัดคะแนนความนิยมของพรรครัฐบาลและวัดความพึงพอใจของประชาชนเกี่ยวกับการบริหารงานของปธน.ไช่ อิงเหวิน นี่คือบททดสอบสำคัญก่อนที่ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาไต้หวันจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2024 (พ.ศ.2567) ซึ่งถึงตอนนั้น ก็จะได้รู้กันว่า นางไช่ อิงเหวิน ยังจะสามารถยึดเก้าอี้ประธานาธิบดีไต้หวันเอาไว้ได้อีกหรือไม่