จีนไว้อาลัย “เจียง เจ๋อหมิน” ลดธงครึ่งเสาทั่วประเทศ

01 ธ.ค. 2565 | 08:15 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ธ.ค. 2565 | 15:26 น.

หน่วยงานรัฐ ธนาคาร ธุรกิจเอกชนในจีน ร่วมไว้อาลัยต่อการอสัญกรรมของนายเจียง เจ๋อหมิน อดีตผู้นำ ด้วยการลดธงชาติครึ่งเสาทั่วประเทศ

 

จากการ ถึงแก่อสัญกรรม ของ นายเจียง เจ๋อหมิน อดีตประธานาธิบดีจีน เมื่อเวลาประมาณ 12.13 น. ของวันที่ 30 พ.ย. 2022 ตามเวลาท้องถิ่น ด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและอวัยวะล้มเหลวหลายระบบในวัย 96 ปี ณ บ้านเกิดของเขาในนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจของจีน

 

บรรดาหน่วยงานรัฐ และธนาคาร ตลอดจนธุรกิจเอกชนในจีน ได้ร่วมกัน ไว้อาลัย ต่อการจากไปของนายเจียง ด้วยการ ลดธงชาติจีนครึ่งเสา นอกจากนี้ บรรดาสื่อมวลชนในจีนต่างร่วมไว้อาลัยด้วยการใช้สีขาว-ดำในหน้าแรกของเพจเว็บไซต์ ขณะที่หนังสือพิมพ์ในจีนก็ได้ใช้สีดังกล่าวในหน้า 1

 

สื่อท้องถิ่นยังมีรายงานด้วยว่า บรรดาธนาคารยังได้ระงับกิจกรรมต่างๆ เป็นเวลา 10 วัน และงดเผยแพร่ภาพถ่ายงานเลี้ยงสังสรรค์ในช่วงนี้ด้วย

 

เรื่องน่ารู้ ที่หลายคนยังไม่รู้ เกี่ยวกับ ‘เจียง เจ๋อหมิน’

  • ก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมือง นายเจียง เจ๋อหมิน เคยทำงานเป็นวิศวกรในโรงงานที่เซี่ยงไฮ้ และยังเคยไปทำงานที่โรงงานสตาลิน ออโตโมบิลเวิร์ก ในกรุงมอสโก ของรัสเซียเมื่อปี 2498
  • เขาสมรสกับนางหวัง เย่ผิง หลานสาวของแม่บุญธรรมของเขาเอง ทั้งคู่มีบุตรชายด้วยกัน 2 คน หนึ่งในนั้นคือนายเจียง เมียงเฮง ผู้ก่อตั้งบริษัทเกรซ เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง
  • เจียงวัยหนุ่มมีความสนใจด้านศิลปะและวรรณกรรม เขามีนิสัยชอบเรียนรู้ มีแนวคิดในด้านการปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมที่ดีกว่า

 

เจียง เจ๋อหมิน สมัยวัยหนุ่ม

 

  • เขาสามารถพูดภาษาต่างประเทศได้หลายภาษา รวมทั้งภาษาอังกฤษ และรัสเซีย เมื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำจีน เขาจึงเป็นหนึ่งในผู้นำจีนจำนวนไม่มาก ที่สามารถพูดสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว
  • เจียง เจ๋อหมิน ขึ้นสู่อำนาจในปี 2532 ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์จากนานาประเทศต่อการที่กองทัพจีนใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงในจัตุรัสเทียนอันเหมินภายใต้การนำของเติ้ง เสี่ยวผิง
  • เขาเป็นผู้นำจีนในช่วงที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษ ส่งมอบฮ่องกงคืนให้แก่จีนแผ่นดินใหญ่ในปี 2540

 

เจียงเป็นผู้นำจีนในช่วงที่อังกฤษ ส่งมอบฮ่องกงคืนให้แก่จีนแผ่นดินใหญ่ในปี 2540

  • เขานำพาจีนเข้าสู่การเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2544 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจจีนเข้าสู่สากล
  • เขาเปิดกว้างนำจีนออกสู่โลกภายนอก ทำให้จีนชนะสิทธิและได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2551
  • การเป็นผู้นำ ที่พาจีนเยียวยาตัวเองหลังเหตุการณ์เทียนอันเหมินและก้าวสู่เวทีระดับโลก ทำให้เจียง เจ๋อหมิน ได้รับยกย่องในฐานะผู้นำที่เป็นบุคคลสมัยใหม่ เป็นบุคคลที่มีคุณงามความดีต่อประเทศชาติ