10 สุดยอดความสำเร็จของจีน เหตุผลที่ สี จิ้นผิง ได้ต่อวาระ 3 (6)

16 พ.ย. 2565 | 07:40 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ย. 2565 | 14:49 น.

10 สุดยอดความสำเร็จของจีน เหตุผลที่ สี จิ้นผิง ได้ต่อวาระ 3 (6) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย... ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3876

จีนบรรลุหลายเป้าหมายได้อย่างเหลือเชื่อในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เรามาลุ้นความสำเร็จในด้านอื่นกันต่อเลยครับ ...


7. ความหนาของจีน (China Thickness) พื้นที่แถบอีสานจีน หรือที่เรียกกันว่า “ตงเป่ย” ถือว่าเป็นย่าน “ดินดำ” (Black Soil) ขนาดใหญ่ที่มากคุณค่าของจีน จึงกลายเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าว ข้าวโพด และพืชเกษตรอื่นของจีนตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

โดยที่การก่อกำเนิดตามกระบวนการทางธรรมชาติของดินดำ ให้มีความหนา 1 เซนติเมตร ต้องใช้เวลาราว 200-400 ปี จีนจึงให้ความสำคัญกับการนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการเกษตร และมาตรการอื่นมาช่วยปกป้องรักษาพื้นที่เพาะปลูกดังกล่าวไว้อย่างจริงจัง 


เฮยหลงเจียง มณฑลเหนือสุดของจีน ซึ่งบางคนอาจรู้จักผ่าน “เมืองน้ำแข็ง” (Ice City) ในฮาร์บิน เมืองเอกของมณฑล ถือเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณดินดำมากที่สุดของจีน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนได้ลงทุนสำรวจและเก็บข้อมูลดินดำในพื้นที่เพาะปลูกอย่างกว้างขวาง 

ผลการวิจัยพบว่า ดินดำในพื้นที่มีปริมาณสูงมาก โดยมีความหนาระหว่าง 19.8-23.3 เซนติเมตร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวิจัยและทำเกษตร รวมทั้งความมั่นคงด้านอาหารของจีนในระยะยาว

 

ขณะเดียวกัน ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้ลงทุนกับการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 1.03 ล้านล้านหยวนในปี 2012 เป็น 2.79 ล้านล้านหยวนในปี 2021 โดยในจำนวนนี้ งบการวิจัยพื้นฐานเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง และแตะระดับ 0.18 ล้านล้านหยวน คิดเป็นกว่า 10% ของทั้งหมด และขยายตัวเฉลี่ยถึง 15.4% ต่อปี 

 

สิ่งนี้บ่งบอกว่า จีนในยุคใหม่ได้วางรากฐานด้านนวัตกรรมไว้อย่างหนาแน่น จนวัฒนธรรมด้านนวัตกรรมได้ฝังรากลึก และกำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจีนในปัจจุบัน 

 

เราเห็นโครงการสำรวจอารยธรรม จนนำไปสู่การรวบรวมและตีพิมพ์เอกสารเกี่ยวกับโบราณคดีและวัฒนธรรมเก่าแก่ของจีนเป็นจำนวนมาก การใช้บริการห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และ แกลลอรี การค้นหาสุภาษิตและคำกลอนดั้งเดิม และมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ได้รับกระแสความนิยมอย่างมาก 

 

แม้กระทั่งวัยรุ่นจีนก็หันมานิยมชมชอบแฟชั่น การแต่งกายแบบจีนโบราณ ราวกับหนุ่มสาวในหนังจอมยุทธ์จีน สิ่งนี้ยังทำให้ระดับความภูมิใจในชาติ ก็เพิ่มขึ้นในระดับที่สูงมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในเชิงคุณภาพและความหลากหลายในอนาคต 

 

ในเชิงเศรษฐกิจ จีนยังได้สร้างระบบอุตสาหกรรมการผลิตที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในโลก ครอบคลุมทุกประเภทอุตสาหกรรมใน United Nations Industrial Classification ขณะที่รากฐานการยกระดับระบบนิเวศของอุตสาหกรรมก็แข็งแกร่งขึ้น แถมผลผลิตมากกว่า 220 ชนิด ก็จัดอยู่ในอันดับแรกของโลก ลองนึกถึงโครงข่ายการสื่อสารระบบ 5G รถไฟความเร็วสูง ทางด่วน และตลาดการค้าปลีกออนไลน์


และนั่นไม่ใช่สิ่งสุดท้ายที่จีนจะทำ จีนยังคงจะทำงานหนักต่อไปเพื่อให้นวัตกรรมหลายสิ่งเกิดเป็นรูปธรรม ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจคุณภาพสูง และเสริมสร้างรากฐานเพื่อความมีชีวิตชีวาให้แก่ประเทศจีน 

 

8. ความหนาแน่นของจีน (China Density) ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือกขึ้นมาอย่างรวดเร็ว แบตเตอรี รุ่นใหม่ ที่ถูกนำเสนอในจีนมีความหนาแน่น-ของพลังงานถึง 255 วัตต์-ชั่วโมง/กิโลกรัมที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าสามารถวิ่งได้ 1,000 กิโลเมตร ต่อการชาร์จเต็มหนึ่งครั้ง 

 

เท่านั้นไม่พอ เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิจัยแห่งสถาบันฟิสิกส์เคมีต้าเหลียน (Dalian Institute of Chemical Physics) ภายใต้สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (Chinese Academy of Sciences) ซึ่งเป็นองค์กรขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน ก็ยังประสบความสำเร็จในการผลิตแบตเตอรีลิเธียมพลังงานสูงด้วยเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ 

 

ความสำเร็จในการพัฒนาดัง กล่าวทำให้แบตเตอรีมีช่วงอายุและความเข้มข้นด้านพลังงานมากขึ้น ซึ่งนับเป็นความหวังของผู้ใช้รถยนต์พลังงานทางเลือกในอนาคต

                                     10 สุดยอดความสำเร็จของจีน เหตุผลที่ สี จิ้นผิง ได้ต่อวาระ 3 (6)

นอกจากสินค้าใหม่แล้ว จีนยังบรรลุเป้าหมายการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ที่เปรียบดั่งทองคำในมุมมองของจีน โดยในระหว่างปี 2012-2021 พื้นที่ที่ใช้ในการก่อสร้างต่อหน่วยจีดีพีของจีนได้ลดลงถึง 40.85% ซึ่งสะท้อนถึงความหนาแน่นของเศรษฐกิจจากการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

 

“ความหนาแน่น” ในด้านเศรษฐกิจและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพดังกล่าว บ่งบอกว่าจีนได้สร้างประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้นมากจากทรัพยากรและต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่ลดลง และได้กลายเป็นแนวทางและเป้าหมายหลักในการพัฒนาของจีนในยุคใหม่

 

เทียบกับเมื่อปี 2012 ความเข้มข้นของการใช้พลังงาน การปลดปล่อยคาร์บอน และ การใช้น้ำของจีนในปี 2021 ได้ลดลงในระดับ 26.4%, 34.4% และ 45% ตามลำดับ ขณะที่อัตราผลผลิตต่อการใช้ทรัพยากรหลักกลับเพิ่มขึ้นถึงราว 58%

 

กุญแจสำคัญที่ทำให้พัฒนาการดังกล่าวเกิดขึ้น อยู่บนพื้นฐานของความสามารถด้านนวัตกรรม จีนก้าวกระโดดจากดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index) ในอันดับที่ 23 เมื่อปี 2012 เป็นถึงอันดับที่ 11 ในปี 2021 จนสามารถก้าวขึ้นเป็น “ประเทศนวัตกรรม” ในปัจจุบัน 

 

เราได้เห็นจีนคิดค้นสารพัดสิ่งใหม่ที่มีคุณสมบัติพิเศษสุดให้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า ยาชีวภาพ และ ปัญญาประดิษฐ์ รวมไปถึงแนวทางใหม่ อาทิ เศรษฐกิจดิจิตัล พลังงานสีเขียวและสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และเมตาเวิร์ส 

 

สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ “ความพร้อม” ในการปรับโครงสร้างของรูปแบบการพัฒนา และการพัฒนาคุณภาพสูงในหลายด้านในอนาคตอย่างไม่ต้องสงสัย

 

การยกระดับ “ความหนาแน่น” ดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยการยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพด้านการผลิต ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ยุคใหม่ของจีน ที่กำลังปรับเปลี่ยนไปสู่รถยนต์พลังงานทางเลือก เกิดขึ้นจากพัฒนาการของเทคโนโลยีหลักหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี มอเตอร์ และอุปกรณ์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งระบบและห่วงโซ่การผลิตที่เชื่อมโยงจากต้นน้ำไปยังปลายน้ำ

 

การเปลี่ยนสนามแข่งขันจากรถยนต์ระบบสันดาปที่จีนเป็น “ผู้ตาม” ไปสู่รถยนต์พลังงานทางเลือกอย่างก้าวกระโดดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้จีนก้าวขึ้นมาเป็น “ผู้นำ” ในอุตสาหกรรม ทำให้การผลิตและการขายรถยนต์ไฟฟ้าของจีนถูกจัดชั้นขึ้นเป็นหมายเลขหนึ่งของโลกเป็นเวลา 7 ปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง 

 

วันนี้พื้นที่หมดแล้ว ผมขอยกยอดไปติดตามต่อตอนต่อไปครับ ...

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน