การตรวจเชื้อโควิดใน ‘น้ำเสีย’ ของเที่ยวบินจากจีน บอกอะไรได้บ้าง

06 ม.ค. 2566 | 07:01 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ม.ค. 2566 | 14:48 น.

หลังจีนประกาศเปิดประเทศ มีผล 8 ม.ค.นี้ หลายประเทศก็เริ่มมาตรการเฝ้าระวังผู้เดินทางขาเข้าที่มาจากจีนอย่างเข้มงวด บ้างก็มี 'มาตรการตรวจน้ำเสีย' จากทุกเที่ยวบินที่มาจากจีน  

 

ตาม แผนงานรับมือภาวะการระบาดของโควิด-19 ที่พุ่งสูงทั่วจีนในเวลานี้ สหรัฐอเมริกาไม่เพียงประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป ผู้โดยสารเครื่องบิน ทุกคนที่เดินทางมาจากประเทศจีน ฮ่องกง และมาเก๊า (อายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป) ต้องแสดงผลโควิดเป็นลบไม่น้อยกว่า 2 วันก่อนที่จะเดินทางมายังสหรัฐ นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาจะ 'ตรวจน้ำเสีย' จาก เที่ยวบินที่มาจากจีน ด้วย

 

เป้าหมายเพื่อการประเมินระดับความรุนแรงของโรคโควิดที่ระบาดในจีน และอาจจะได้พบว่ามีการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาที่ก่อให้เกิดโรคโควิดด้วยหรือไม่ 

 

การตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำเสียจากเครื่องบินที่มาจากจีนทุกลำ เปรียบเสมือนหน้าต่างเปิดสู่ข้อมูลโควิดที่หลายคนอยากรู้


กระบวนการตรวจน้ำเสียจากเที่ยวบิน
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า กระบวนการนี้มุ่งเน้นไปที่การตรวจของเสียที่มาจาก 'ห้องน้ำบนเครื่องบิน' ที่มาจากประเทศจีนเป็นหลัก โดยการวิเคราะห์ดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อการประเมินว่า มีผู้โดยสารสัดส่วนเท่าใดในเที่ยวบินหนึ่ง ๆ ที่ติดโควิด รวมทั้งเพื่อตรวจหาสายพันธุ์ไวรัสทั้งหมดที่มีอยู่ด้วย

 

ในขั้นต้นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะเก็บตัวอย่างน้ำเสียโดยตรงจากถังเก็บปฏิกูลจากห้องน้ำบนเครื่องบินที่ลงจอดเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์เพื่อทำการทดสอบต่อไป

 

กรณีที่มีการตรวจพบไวรัส ตัวอย่างนั้นจะถูกส่งเข้าสู่ขั้นตอนการจัดลำดับจีโนมเพื่อตรวจดูว่าเป็นไวรัสสายพันธุ์ย่อยใด

 

ถามว่า เหตุใดต้องใช้มาตรการนี้ คำตอบก็คือ อัตราการติดเชื้อโคโรนาไวรัสในจีนพุ่งสูงอย่างมากตั้งแต่เมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากที่รัฐบาลปักกิ่งประกาศยกเลิกมาตรการเข้มงวดต่าง ๆ เพื่อควบคุมการแพร่กระจายเชื้อตามนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid) ซึ่งใช้งานมาตั้งแต่เริ่มมีระบาดใหญ่เป็นวงกว้าง รวมระยะเวลาราว 3 ปี  


หลายประเทศรวมถึงสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศใช้มาตรการบังคับให้ผู้โดยสารที่เดินทางมาจากประเทศจีนทุกคน ต้องแสดงผลการตรวจโควิดที่เป็นลบก่อนจะเข้าประเทศได้ ทำให้กรุงปักกิ่งแสดงความไม่พอใจออกมาทันที แต่สำหรับมาตรการตรวจน้ำเสียจากเครื่องบินนั้น ไม่ได้ทำให้เกิดความรู้สึกเลือกปฏิบัติและไม่ได้บังคับใคร 


อันตวน ฟลาโฮลต์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพโลก (Institute of Global Health) จากมหาวิทยาลัยเจนีวา (University of Geneva) กล่าวว่า “ตัวอย่างเหล่านี้จะเป็นหน้าต่างส่องเข้าไปดูว่า สถานการณ์โควิดของจีนในเวลานี้เป็นอย่างไร”


ฟลาโฮลต์ ย้ำกับผู้สื่อข่าวเอเอฟพีด้วยว่า เรื่องนี้ถือเป็นจุดที่มีความสำคัญอย่างมาก ในขณะที่ความสงสัยเกี่ยวกับประเด็นความโปร่งใสและความแม่นยำของข้อมูลสาธารณสุขอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลจีนยังคงเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายคาใจอยู่


มีหลายประเทศที่ใช้มาตรการนี้

ประเทศที่ประกาศแผนเก็บตัวอย่างน้ำเสียของเที่ยวบินจากจีนไปตรวจหาเชื้อโควิด นอกจากสหรัฐ(ที่กำลังอยู่ในขั้นพิจารณา) ยังประกอบด้วย เบลเยียม แคนาดา ออสเตรีย และออสเตรเลีย ขณะที่มีการคาดการณ์ว่า สหภาพยุโรป (อียู) น่าจะตัดสินใจดำเนินการแบบเดียวกันนี้ด้วย หลังตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขจากเกือบทุกประเทศสมาชิกเห็นพ้องกันเมื่อวันอังคาร (3 ม.ค.) ที่จะออกคำแนะนำว่า ควรมีการเพิ่มมาตรการตรวจสอบน้ำเสียในแผนงานรับมือการระบาดโควิดด้วย

 

ประโยชน์ของการตรวจวิเคราะห์น้ำเสีย
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (4 ม.ค.) องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นิยามของคำว่า "การเสียชีวิตจากโควิด" ของทางการจีน ซึ่งทาง WHO มองว่า “แคบมาก ๆ” และยังระบุว่า สถิติอย่างเป็นทางการของจีนสะท้อนภาพที่ "ต่ำกว่าความเป็นจริง" ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวตามโรงพยาบาล หรือตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วประเทศ


ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญจึงมองว่า มาตรการตรวจสอบและวิเคราะห์น้ำเสียนี้ จะช่วยเพิ่มข้อมูลที่ขาดหายไปจากจีนได้เป็นอย่างดี "การได้รู้ว่า ผู้โดยสาร 30-50% ที่เดินทางมาจากจีนนั้นติดโควิดอยู่ ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากในช่วงที่ตัวเลขที่เชื่อถือได้นั้นขาดหายไป”


ประโยชน์อีกอย่างที่จะได้คือ มาตรการนี้ยังเป็นโอกาสให้นานาประเทศ ตรวจสอบได้ว่า ไวรัสนั้นมีการกลายพันธุ์มาเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่อาจส่งผลต่อการประเมินทิศทางของภาวะการระบาดใหญ่ เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนเมื่อปลายปี ค.ศ. 2021

 

การได้รู้ว่าผู้โดยสาร 30-50% ที่เดินทางมาจากจีนนั้นติดโควิดอยู่หรือไม่ ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก
ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขออกมาเตือนว่า การเพิ่มขึ้นอย่างมากมายของจำนวนผู้ติดเชื้อในจีนที่มีประชากรราว 1,400 ล้านคนอาจกลายมาเป็นการสร้างพื้นที่ขยายพันธุ์สำหรับไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ได้เป็นอย่างดี


ทั้งนี้ การตรวจสอบน้ำเสียนั้นเป็นกระบวนการที่ทำได้ง่ายกว่ามาก ทั้งยังไม่เป็นการล่วงล้ำมากเมื่อเทียบกับการตรวจหาการติดเชื้อในกลุ่มผู้โดยสารเครื่องบินขณะเดินทางมาถึงสนามบิน


ข้อจำกัดที่ยังคงมีอยู่
แวงซองต์ มาเฮอร์แชล นักไวรัสวิทยาจากฝรั่งเศส เปิดเผยว่า ขณะที่กระบวนการตรวจสอบน้ำเสียนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีอย่างมาก แต่ก็ไม่ได้ให้มุมมองที่ละเอียดถี่ถ้วนมากนักเกี่ยวกับภาวะการติดเชื้อหรือสายพันธุ์ของไวรัสที่อยู่บนเครื่องบิน ข้อจำกัดอีกข้อก็คือ มาตรการนี้เป็นการตรวจสอบเฉพาะผู้โดยสารบนเครื่องที่ใช้ห้องน้ำระหว่างการเดินทางเท่านั้น

 

นอกจากนี้ ขั้นตอนต่าง ๆ ของมาตรการนี้ต้องใช้เวลาเป็นวันเพื่อการจัดเก็บ การทดสอบ การจัดลำดับจีโนม และการวิเคราะห์ผลการศึกษา ซึ่งท้ายสุดก็ไม่สามารถลงลึกจนชี้ตัวได้ว่า ผู้โดยสารคนใดที่มีเชื้อไวรัสติดตัวอยู่


โดยสรุปก็คือ นี่คือวิธีการที่ดีในการศึกษาและหาข้อมูล แต่เมื่อได้ข้อมูลที่น่าสนใจนั้นมาแล้ว เราจะดำเนินการอย่างไรต่อไป มันอาจจะมีทั้งข้อจำกัดหรืออาจจะสายเกินกว่าจะดำเนินมาตรการใด ๆ ต่อจากนั้นได้

 

"ทันทีที่ได้ข้อมูลที่ต้องการมาแล้ว เราจะทำอะไรได้บ้าง โทรกลับไปหาคนทุกคนบนเครื่องบินหรือเปล่า” มาเฮอร์แชลกล่าวทิ้งท้าย

 

ข้อมูลอ้างอิง

Why monitor wastewater of flights arriving from China for Covid?

U.S. considers airline wastewater testing as Covid surges in China