องค์กรอิสระด้าน การสำรวจสำมะโนประชากร และสถิติประชากรโลก World Population Review ชี้ว่า จากการสำรวจ ณ สิ้นปี 2565 อินเดีย อาจแซงหน้า จีน แล้วในฐานะ “ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก” โดยผลการสำรวจครั้งนี้ได้เผยตัวเลขประมาณการว่า ประชากรของอินเดียอยู่ที่ระดับ 1,417 ล้านคน ขณะที่จีนมีประชากร 1,412 ล้านคน
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างอิงผลสำรวจดังกล่าว พร้อมระบุว่า ‘อินเดีย’ ซึ่งมีประชากรครึ่งหนึ่งอายุต่ำกว่า 30 ปี ถูกกำหนดให้เป็นประเทศเศรษฐกิจหลักที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และเพื่อใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้ให้ได้มากที่สุด นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย จำเป็นต้องสร้างงานให้กับผู้คนนับล้านที่เข้าสู่ตลาดแรงงานในทุกๆปี ขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศกำลังเปลี่ยนไปทำงานนอกภาคการเกษตร
ในทางตรงกันข้าม สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) รายงานเมื่อวันอังคาร (17 ม.ค.) ว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา จำนวนประชากรจีนลดลง “เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ทศวรรษ” โดยอัตราการเกิดของประเทศจีนที่ร่วงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้เกิดความกังวลว่า วิกฤตด้านประชากรมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนที่กำลังเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงอยู่แล้ว
เศรษฐกิจจีนจะเป็นอย่างไรเมื่อจำนวนประชากรลดลง
สถิติจำนวนประชากรจีนที่ลดลงเป็นประวัติการณ์นี้ แสดงถึงแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นต่อความพยายามของรัฐบาลจีนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยในวันเดียวกัน (17 ม.ค.) สำนักงานสถิติของจีนเปิดเผยด้วยว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนเมื่อปี 2565 อยู่ที่อัตรา 3% ถือว่าเป็นตัวเลขที่ย่ำแย่ที่สุดเป็นอันดับสองตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 1970 เป็นอย่างน้อย
โดยครั้งสุดท้ายที่จีนประสบกับจำนวนประชากรที่ลดลง คือในยุคของอดีตผู้นำเหมา เจ๋อตุง ที่นโยบาย Great Leap Forward ของเขาทำให้เกิดความอดยากและมีประชาชนเสียชีวิตหลายสิบล้านคน ในปลายทศวรรษที่ 1950
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ จีนไม่ใช่ประเทศเดียวที่เผชิญปัญหาจากประชากรสูงอายุ แต่ผู้สันทัดกรณีกล่าวว่า จีนน่าจะเจอปัญหาในการรับมือกับสถานการณ์นี้ในอนาคตยากยิ่งกว่าประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว
ยี่ ฟูเสี้ยน ผู้เชี่ยวชาญแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ให้ความเห็นว่า “จีนกลายเป็นประเทศที่มีคนสูงอายุมาก ก่อนที่จะกลายเป็นประเทศร่ำรวย” นักประชากรศาสตร์ผู้นี้กล่าวว่า ประชากรจีนลดลง 9-10 ปีเร็วกว่าที่ทางการปักกิ่งและสหประชาชาติคาดการณ์ไว้ เขายังเป็นผู้หนึ่งที่เชื่อว่า จีนซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกนั้น น่าจะถูกแซงหน้าโดยอินเดียในเร็วๆนี้ หรือไม่ก็อาจถูกแซงหน้าไปเรียบร้อยแล้ว
ในรายงานของสำนักสถิติแห่งชาติของจีน ในปี 2565 ประชากรจีนมีจำนวนลดลง 850,000 คน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านั้น โดยสถิติดังกล่าวเป็นตัวเลขเฉพาะชาวจีนแผ่นดินใหญ่
สาเหตุหนึ่งที่ประชากรหดตัว มาจากจำนวนเด็กทารกเกิดใหม่ของจีนในปีที่แล้วซึ่งลดลงกว่า 1 ล้านคน มาอยู่ที่ 9,560,000 คน เทียบกับจำนวนการเสียชีวิตของประชากร 10,410,000 คน
ทั้งนี้ ยังไม่แน่ชัดว่า การระบาดของโควิด-19 มีผลต่อจำนวนประชากรจีนที่ลดลงหรือไม่อย่างไร
นี่ก็ว่าพยายามแล้วนะ
จีนพยายามกระตุ้นการเติบโตของประชากรตั้งแต่เมื่อ 7 ปีก่อน หลังยุตินโนบาย one-child policy ที่ใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1980-2015 เป้าหมายของนโยบายดังกล่าวก็เพื่อให้ประชาชนมีลูกคนเดียว เชื่อว่านโยบายนี้ป้องกันการกำเนิดของเด็กทารกจีนเอาไว้ราว 400 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม หลังยุตินโนบาย one-child policy ความพยายามของรัฐบาลจีนที่ต้องการส่งเสริมให้คู่สมรสมีบุตรเพิ่มขึ้น ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าใดนัก สาเหตุหนึ่งที่ถูกพูดถึงบ่อย ๆ คือการเลี้ยงดูบุตรในเมืองใหญ่ของจีนมีค่าใช้จ่ายสูงมาก
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ประชากรจีนเริ่มลดลงตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน และอัตราการเกิดที่ต่ำของจีน ก็อยู่ในระดับต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเทียบได้กับของไต้หวันและเกาหลีใต้
สิ่งที่น่ากังวลสำหรับจีนคือ จีนอาจจะต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงกว่าญี่ปุ่น ที่ซึ่งเศรษฐกิจเติบโตช้า โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะการมีประชากรลดลงนั่นเอง
ศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์ สจ๊วต เก็ตเทล-บาสเตน แห่งมหาวิทยาลัย คาลิฟา ที่เมืองอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การลดลงประจำนวนประชากรไม่จำเป็นต้องนำมาซึ่งเศรษฐกิจที่ชะลอลงเสมอไป โดยระบุว่า ปัจจัยด้านจิตวิทยาน่าจะเป็นสิ่งท้าทายที่สำคัญที่สุด เขามองว่า จีนพยายามรับมือกับเรื่องนี้ด้วยการยกระดับด้านนวัตกรรม เช่น ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และภาคบริการการเงิน
“แม้ว่าอินเดียจะมีประชากรที่อายุน้อยกว่าจีน และมีประชากรเพิ่มขึ้น แต่ก็มีปัจจัยที่น่าจะขัดขวางการแซงหน้าจีนด้านเศรษฐกิจในระยะสั้นด้วยเช่นกัน เช่น การที่สตรีมีบทบาทในตลาดการจ้างงานน้อยกว่าจีนอย่างชัดเจน” ศาสตราจารย์ เก็ตเทล-บาสเตน กล่าว
แล้วจีนจะแก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำอย่างไร
ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนอนุญาตให้คู่สมรสมีลูกได้ 3 คนต่อครอบครัว และผุดนโยบายจูงใจเพื่อกระตุ้นการมีลูกของชาวจีน และในปีเดียวกันนั้น รัฐบาลท้องถิ่นในจีนออกมาตรการกระตุ้นการมีลูก รวมทั้งการลดหย่อนภาษี การให้ลาคลอดได้นานขึ้น รวมทั้งเงินอุดหนุนด้านอสังหาริมทรัพย์กับครอบครัวที่มีลูก
ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 คณะกรรมาธิการด้านสุขภาพแห่งชาติจีนเรียกร้องให้รัฐบาลกลางและส่วนภูมิภาคเพิ่มงบประมาณด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และปรับปรุงบริการดูแลเด็กทั่วประเทศ
สภาท้องถิ่นของจีนระบุเมื่อปีที่แล้ว (2565) ว่าจะออกมาตรการใหม่ เพื่อให้ประชาชนมีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น และมีทางเลือกในการทำงานที่บ้านสำหรับพนักงานที่มีลูก พร้อมระบุให้ทางการท้องถิ่นจัดหาที่อยู่อาศัยพิเศษสำหรับครอบครัวที่มีเด็กหลายคน เช่น จัดหาอพาร์ตเมนต์ที่ใหญ่ขึ้นมารองรับ
ไม่เพียงเท่านั้น ทางการท้องถิ่นที่เซินเจิ้น ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจีน ยังให้เงินช่วยเหลือคู่สมรสที่มีลูก 3 คนหรือมากกว่านั้น ราว 6,000 หยวน (ราว 30,000 บาท) ต่อปีสำหรับลูก 1 คน ไปจนกว่าเด็กจะอายุครบ 3 ปี ขณะที่เมืองจี่หนาน มณฑลซานตง แม่ที่มีลูกคนที่ 2 หรือคนที่ 3 สามารถรับเงินช่วยเหลือ 600 หยวน (ราว 3,000 บาท) ต่อเดือน ไปจนกว่าเด็กจะอายุครบ 3 ปี
เห็นความพยายามของรัฐบาลจีนขนาดนี้แล้ว บางทีตำแหน่งแชมป์ที่เสียไปให้กับอินเดียในฐานะประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก อาจจะทวงคืนกลับมาได้ในเร็ววัน