วันที่ 19 ม.ค.2566 ระดับ หนี้ภาครัฐ ของ สหรัฐอเมริกา ขยับขึ้น ชนเพดาน 31.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้สมาชิกพรรครีพับลิกันที่คุมเสียงข้างมากใน สภาคองเกรส ต้องเผชิญหน้ากับสมาชิกพรรคเดโมแครตของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อเร่งหาทางออกให้กับปัญหาดังกล่าวอย่างเข้มข้น เพราะเกรงว่าเรื่องนี้อาจนำไปสู่ วิกฤตการคลัง ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐได้แจ้งต่อผู้นำในรัฐสภา (คองเกรส) ซึ่งรวมถึงนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ ว่ากระทรวงการคลังได้เริ่มดำเนินมาตรการบริหารเงินสดแบบพิเศษที่จะช่วยให้รัฐบาลหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ได้ไปจนถึงวันที่ 5 มิถุนายนแล้ว
ทั้งนี้ พรรครีพับลิกันซึ่งเป็นฝ่ายค้าน ตั้งใจจะใช้เวลาที่มีอยู่จนกระทั่งมาตรการที่กระทรวงการคลังนำมาใช้นี้หมดฤทธิ์ลง เพื่อบีบให้ประธานาธิบดีไบเดนและวุฒิสภาที่พรรคเดโมแครตคุมเสียงข้างมากอยู่ยอมตัดงบประมาณตามที่ฝ่ายตนเสนอ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ รมต.เยลเลน เตือนว่า วันสิ้นสุดของมาตรการจัดการเงินสดที่ดำเนินการอยู่ในเดือนมิถุนายน จะมาพร้อมกับ “ความไม่แน่นอนพอสมควร” เนื่องจากจะเกิดความท้าทายในการคาดการณ์การชำระหนี้และรายได้รัฐบาลในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า
นางเยลเลนระบุในจดหมายที่ส่งถึงผู้นำสภาคองเกรสเมื่อวันพฤหัสบดี (19 ม.ค.) ว่า “ด้วยความเคารพ ดิฉันขอให้สภาคองเกรสดำเนินการอย่างทันท่วงทีในการปกป้องความศรัทธาและความน่าเชื่อถืออันเต็มเปี่ยมต่อสหรัฐอเมริกา”
อย่างไรก็ดี รอยเตอร์รายงานว่า ไม่มีสัญญาณตอบรับจากทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตว่า จะมีฝ่ายใดที่เป็นผู้ยอมอีกฝ่ายก่อน ในเวลานี้
ทั้งนี้ พรรครีพับลิกันกำลังพยายามดำเนินการตาม แผน “จัดลำดับความสำคัญหนี้” (debt prioritization) ที่ต้องการให้กระทรวงการคลังสหรัฐจัดลำดับความสำคัญการชำระหนี้ต่าง ๆ รวมทั้งความสำคัญของแผนงานอื่น ๆ เช่น โครงการประกันสังคม (Social Security) และโครงการประกันสุขภาพของผู้สูงอายุ (Medicare) หากหนี้ของประเทศพุ่งทะลุเพดานระหว่างที่การเจรจาของสองฝ่ายยังดำเนินอยู่ โดยรีพับลิกันหวังที่จะสรุปเนื้อหาของกฎหมายใหม่ภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้
โอกาสที่สหรัฐจะผิดนัดชำระหนี้ในครั้งนี้ทำให้รัฐบาลและตลาดหุ้นสหรัฐเกิดความกังวลว่า การเผชิญหน้ากันในสภาคองเกรสระหว่างสมาชิกของ 2 พรรคการเมืองใหญ่อาจนำมาซึ่ง การหยุดชะงักของการทำงานของภาครัฐ หรือ government shutdown เช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2011 (พ.ศ.2554) ซึ่งทำให้อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ (credit rating) ของสหรัฐถูกปรับลดลง และรัฐบาลต้องตัดงบค่าใช้จ่ายทางทหารและส่วนอื่น ๆ ติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี
ในทางทฤษฎี สภาคองเกรสดำเนินแผนเพดานหนี้แบบครอบคลุมมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1939 เพื่อจำกัดการขยายตัวของหนี้ภาครัฐ แต่มาตรการนี้ไม่เคยได้ผลจริง เพราะกระบวนการพิจารณางบประมาณประจำปีของคองเกรสนั้นไม่ได้เคยดูตัวเลขเพดานหนี้เลย หากแต่ตกลงที่จะตั้งงบใหม่ขึ้นมาดูแลต้นทุนงบใช้จ่ายที่อนุมัติไปก่อนหน้าตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม การเจรจาประเด็นการจัดลำดับหนี้และงบใช้จ่ายจะยังไม่เกิดขึ้นเต็มรูปแบบจนกว่าเหล่าสมาชิกสภาคองเกรสจะเดินทางมายังกรุงวอชิงตันอย่างพร้อมเพรียงในสัปดาห์หน้า