ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำด้านระบาดวิทยาของจีน เผยว่าโอกาสที่ โควิด-19 จะกลับมา ระบาดใหญ่ระลอกใหม่ ใน จีน ภายในระยะ 2- 3 เดือนหน้านี้ “อาจเป็นไปได้น้อย” เพราะตอนนี้ราว 80% ของ ประชากรจีน ติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว
นายอู๋ จุนโหย่ว หัวหน้าทีมนักระบาดวิทยาจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค หรือ ซีดีซี (China’s Center for Disease Control and Prevention: CDC) ของจีน กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศผ่านสื่อสังคมออนไลน์เว่ยโป๋ (Weibo) เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (21 ม.ค.) ว่า การเคลื่อนย้ายของประชาชนที่ออกเดินทางในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ อาจทำให้มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ แต่โอกาสที่จะเกิดคลื่นการระบาดใหญ่เป็นระลอกที่สองไม่น่ามีความเป็นไปได้ในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจาก 80% ของประชากรกว่า 1,400 ล้านคนของจีนนั้น ได้ติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้วในการระบาดระลอกล่าสุด
ทั้งนี้ ชาวจีนหลายร้อยล้านคนอยู่ในระหว่างการเดินทางไปทั่วประเทศช่วงเทศกาลวันหยุดตรุษจีนที่เริ่มอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมา (21 ม.ค.) เพื่อพบปะรวมญาติในวันปีใหม่ของจีน หลังจากรัฐบาลได้ยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่บังคับใช้มาราว 3 ปี ท่ามกลางความกังวลเรื่องการระบาดรุนแรงในแถบชนบทที่ระบบสาธารณสุขย่ำแย่กว่าในเมืองใหญ่
คณะกรรมาธิการด้านสาธารณสุขแห่งชาติจีน (National Health Commission-NHC) ระบุเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (19 ม.ค.) ว่าจีนผ่านพ้นจุดสูงสุดในแง่จำนวนผู้ป่วยจากโควิด-19 ไปแล้ว และได้เปิดเผยตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิดที่จำนวนเกือบ ๆ 60,000 คน อ้างอิงจากข้อมูล ณ วันที่ 12 ม.ค. ซึ่งจีนถือว่าเป็นระยะเวลา 1 เดือนหลังจากที่มีการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิดไป แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่า ตัวเลขดังกล่าวอาจไม่ได้สะท้อนภาพรวมผลกระทบของโควิดในวงกว้าง เนื่องจากยังไม่ได้นับตัวเลขผู้เสียชีวิตที่บ้าน
หลายข้อมูลยันจุดพีคผ่านพ้นไปแล้ว
ก่อนหน้านี้ มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยปักกิ่งที่ระบุว่า ประชากรจีนที่ติดโควิดไปแล้วในช่วงของการแพร่ระบาดระลอกล่าสุดนี้ น่าจะมีจำนวนมากว่า 900 ล้านคน หรือราว 64% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 11 ม.ค.2566) และภาวะสูงสุดหรือจุดพีคของจำนวนผู้ติดเชื้อก็ได้ผ่านพ้นไปแล้วในหลายพื้นที่ของจีนตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา หรือประมาณ 13 วันหลังวันประกาศผ่อนคลายการควบคุมโควิดอย่างเข้มงวด
งานวิจัยชิ้นนี้ของมหาวิทยาลัยปักกิ่งระบุว่า จีนผ่านพ้นจุดพีคของการติดโควิดมาตั้งแต่สิ้นเดือนธ.ค.แล้ว ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับรายงานของหลายหน่วยงานด้านสาธารณสุขของจีนที่ออกมาประกาศว่า นอกจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ผ่านพ้นจุดสูงสุดมาแล้ว จำนวนผู้ป่วยที่ต้องการเข้ารับการรักษาในฐานะผู้ป่วยระยะวิกฤต (ไอซียู) ก็ผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้วเช่นกัน
WHO ยังกังขาความน่าเชื่อถือ
อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการบริหารด้านสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขขององค์การอนามัยโลก (WHO) เคยตั้งข้อสังเกตไว้เมื่อต้นเดือนนี้ว่า ข้อมูลผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของหน่วยงานจีนอาจต่ำกว่าความเป็นจริงทั้งในแง่จำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ในห้องไอซียู รวมทั้งจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด
ข้อมูลอ้างอิง