ตามประกาศบนเว็บไซต์ของ รัฐบาลอังกฤษ ระบุว่า มาตรการดังกล่าวเมื่อมีผลบังคับใช้ในเดือน ต.ค. นี้ ผู้บริโภคจะไม่สามารถซื้อหรือรับ อุปกรณ์รับประทานอาหารพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) รวมไปถึงถาดแบบใช้ครั้งเดียว ถ้วยโพลีสไตรีน และภาชนะบรรจุอาหารบางประเภท จากร้านค้าหรือสถานบริการต่างๆ อาทิ ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร ผู้จำหน่ายอาหาร หรือบริการนำอาหารกลับบ้าน ได้อีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม คำสั่งนี้ ไม่ครอบคลุมถึงพลาสติกประเภทอื่นๆ ที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ของสินค้าประเภทต่างๆ โดยรัฐบาลกล่าวว่า จะใช้มาตรการอื่นจัดการกับพลาสติกกลุ่มนี้ เช่นเดียวกับอุปกรณ์รับประทานอาหารที่มาพร้อมกับอาหารสำเร็จรูป เนื่องจากลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ประกาศอยู่ใน “หลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต” หรือ EPR (Extended Producer Responsibility) อยู่แล้ว
จากข้อมูลของสถาบันพลาสติก (Plastics Institute of Thailand) อธิบายถึง EPR ว่า เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ผลิตสร้างความรับผิดชอบไปยังช่วงต่างๆ ของ “วงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์” ตั้งแต่การเริ่มต้นคิด การออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติก การจัดส่งกระจายสินค้า การรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซํ้า จนนำมาสู่การนำกลับมาใช้ใหม่และการบำบัด เพื่อให้เกิดเป็นกระบวนการที่ยั่งยืนของผลิตภัณฑ์พลาสติก ให้สามารถใช้งานได้อย่างคุ้มค่า และส่งผลเสียหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
นี่คือกระแสโลก
การห้ามใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการที่รัฐบาลทั่วโลกนำมาใช้เพื่อควบคุมการผลิตและการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง
เมื่อเดือนมี.ค. 2565 สหประชาชาติมีการร่างสนธิสัญญาพลาสติก เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติพลาสติกล้นโลก โดยตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 ซึ่งนับว่าเป็นข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติที่สำคัญที่สุดนับตั้งแต่มีความตกลงปารีส (Paris agreement) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อปี 2558
กระทรวงสิ่งแวดล้อมอังกฤษประมาณการว่า ในแต่ละปีชาวอังกฤษใช้จานพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง กว่า 1,100 ล้านใบ และใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารแบบใช้ครั้งเดียวราว 4,250 ล้านชิ้น หรือเฉลี่ยเท่ากับจานใช้แล้วทิ้งคนละ 20 ใบ และอุปกรณ์รับประทานอาหารแบบใช้แล้วทิ้ง 75 ชิ้นต่อคน
ที่สำคัญ คือ มีเพียง 10% เท่านั้นที่ถูกนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล จากข้อมูลของรัฐบาลอังกฤษระบุว่า ช้อนส้อมพลาสติกเป็น 1 ใน 15 สิ่งของที่ถูกทิ้งเป็นขยะมากที่สุดในอังกฤษ
ไทม์ไลน์การจำกัดขยะพลาสติก
มาตรการห้ามใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งในครั้งนี้ เป็นการเพิ่มเติมขอบเขตอำนาจของกฎเกี่ยวกับพลาสติกเดิมที่มีอยู่แล้ว
รีเบกกา พาว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของอังกฤษกล่าวว่า การออกคำสั่งห้ามใช้พลาสติกที่จะออกมาในช่วงปลายปีนี้ เป็นเหมือนคำมั่นสัญญาว่า อังกฤษมุ่งมั่นที่จะกำจัดขยะพลาสติกที่ไม่จำเป็นต้องใช้ ให้ได้ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์หลายคนมองว่ามาตรการดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะใช้จัดการกับ “ปัญหาขยะพลาสติก” ที่เป็นปัญหาหลักด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษที่โลกกำลังเผชิญหน้าอยู่ โดยจอห์น วิดัล นักข่าวและอดีตบรรณาธิการด้านสิ่งแวดล้อมของหนังสือพิมพ์ The Guardian สื่อชั้นนำของอังกฤษ ชี้ให้เห็นว่าคำสั่งห้ามของอังกฤษนั้น จำกัดขอบเขตที่แคบเกินไป เนื่องจากไม่ครอบคลุมขวดนํ้าพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวและถุงพลาสติก อีกทั้งไม่มีมาตรการควบคุมการเผาขยะพลาสติกด้วยเตาเผาขยะด้วย
เม็ก แรนเดิลส์ นักรณรงค์ขององค์กรกรีนพีซของอังกฤษ (Greenpeace UK) ยินดีกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่เขามองว่า มาตรการดังกล่าวสายเกินจะแก้อะไรได้แล้ว และเป็นเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง ไม่สามารถช่วยยับยั้งปัญหาขยะพลาสติกได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ อังกฤษกำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาอย่างรอบคอบเกี่ยวกับการประกาศแบนบรรจุภัณฑ์เพิ่มเติม ได้แก่
นอกจากนี้ ยังอาจเพิ่มข้อกำหนดให้บริษัทต่างๆ ระบุวิธีกำจัดผลิตภัณฑ์พลาสติกอย่างถูกต้องบนฉลากด้วย รวมถึงการพัฒนาโปรแกรมการส่งขวดบรรจุภัณฑ์กลับคืนบริษัท เป็นต้น