ลมหายใจของเมียนมาภายใต้เงารัฐประหารครบรอบ 2 ปี

03 ก.พ. 2566 | 01:08 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.พ. 2566 | 01:58 น.

รัฐประหารในเมียนมา ครบรอบ 2 ปีในเดือนนี้ แต่ความหวังเกี่ยวกับประชาธิปไตยและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังริบหรี่ เมื่อรัฐบาลทหารขยายภาวะฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือน

 

การทำ รัฐประหารในเมียนมา ครบรอบ 2 ปีเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่ความหวังเกี่ยวกับ การเลือกตั้งทั่วประเทศ ที่รัฐบาลให้คำสัญญาไว้ รวมทั้ง การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ของ เมียนมา ก็ยังคงริบหรี่ เมื่อรัฐบาลทหารประกาศขยายภาวะ สถานการณ์ฉุกเฉิน ออกไปอีก 6 เดือน เท่ากับเป็นการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกครั้ง โดยอ้างว่าสถานการณ์ยังไม่ปกติ ทั้งยัง “ต้องการเวลา” สำหรับการจัดเตรียมการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างเรียบร้อยและมีเสถียรภาพ

สถานีโทรทัศน์เอ็มอาร์ทีวีของเมียนมารายงานเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ว่า สภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติเมียนมา (NDSC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารตามรัฐธรรมนูญ ได้หารือกันเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา และได้ตัดสินใจประกาศขยายสถานการณ์ฉุกเฉินภายในประเทศออกไปอีก 6 เดือน หลังจากที่ประกาศเดิมได้หมดอายุลง

แถลงการณ์ของ NDSC ระบุว่า เมียนมายังคงเผชิญสถานการณ์ที่ไม่ปกติ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องประกาศขยายสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป เพื่อให้ผู้บัญชาการกองทัพปฏิบัติหน้าที่ได้สำเร็จตามความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย รัฐบาลอ้างว่า ประกาศดังกล่าวสอดคล้องตามมาตรา 425 แห่งรัฐธรรมนูญเมียนมา

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา

คำสัญญาที่ไร้ความหมาย 

ย้อนไปเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 รัฐบาลทหารเมียนมาได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปีหลังจากที่กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางอองซาน ซูจี และหลังจากนั้น ก็ยังได้ประกาศขยายสถานการณ์ฉุกเฉินอีก 2 ครั้งจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 โดยให้สัญญาว่ารัฐบาลมีแผนจะจัดการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคมปีนี้

กลุ่มผู้ประท้วงซึ่งเป็นชาวเมียนมาที่ต่อต้านรัฐบาลทหารมองว่า การประกาศขยายสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวถือเป็นการดำเนินการของกองทัพที่มีเจตนาเลื่อนการเลือกตั้งออกไป และขัดแย้งกับคำสัญญาของ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ที่รับปากว่ารัฐบาลจะจัดการเลือกตั้งทันทีหลังยึดอำนาจครบ 1 ปี โดยจะมอบอำนาจให้แก่ผู้ชนะการเลือกตั้ง แต่หลังจากที่มีการเลื่อนเลือกตั้งออกมาเรื่อย ๆหลายครั้งแล้ว ความหวังทั้งมวลก็เริ่มจะหมดไป  

ในการประกาศขยายสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งล่าสุดนี้ ไม่มีการประกาศวันที่แน่ชัดในการจัดการเลือกตั้ง รัฐบาลทหารระบุเพียงว่าการเลือกตั้งจะจัดขึ้นหลังจบการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ ยังกล่าวอ้างว่า มีความพยายามจากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่พยายามจะยึดอำนาจด้วยการใช้กำลังอันมิชอบ รวมถึงการลอบสังหาร วางระเบิด และทำลายทรัพย์สินของรัฐ เหล่านี้ทำให้สถานการณ์ยังไม่ปกติ

โฆษกของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของเมียนมา ซึ่งทำหน้าที่เป็นรัฐบาลเงา จัดตั้งโดยฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาและต่อต้านรัฐบาลทหาร แสดงความเห็นว่า ไม่แปลกใจกับคำประกาศดังกล่าว เพราะเป็นที่คาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่ารัฐบาลทหารจะดำเนินการบางอย่าง เพื่อขยายเวลาการควบคุมอำนาจออกไปอีกในวันครบรอบการยึดอำนาจที่เพิ่งผ่านมา

อองซาน ซูจี วัย 77 ปี อดีตผู้นำรัฐบาลพลเรือนเมียนมา ยังถูกคุมขัง อนาคตของเธอยังมืดมน

ลมหายใจแผ่วบางทางเศรษฐกิจ

ธนาคารโลก คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเมียนมาจะเติบโตเพียง 3% ในปีนี้ (2566) โดยจุดแข็งที่ยังมีอยู่คือด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม เช่น การผลิตเครื่องนุ่งห่ม แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงมีขนาดเล็กกว่าในช่วงปี 2562 หรือช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และก่อนรัฐประหาร

  • กล่าวได้ว่าภาวะสะดุดขัดทางการเมืองซึ่งเป็นอุปสรรคในการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในด้านต่าง ๆ ได้ทำให้ประชากรเมียนมาราว 40% ต้องอยู่ในสถานะยากจนข้นแค้น
  • ในระยะแรกๆหลังการรัฐประหาร มีการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอย่างเข้มงวดและมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับกฎและข้อบังคับภายใต้การปกครองของกองทัพ ส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุน แต่บางธุรกิจก็ยังหาหนทางดำเนินกิจการได้ โดยใช้การชำระเงินนอกระบบและหลากหลายช่องทางการค้า
  • นอกจากนี้ ความสัมพันธ์กับจีนยังมีส่วนอย่างมากในการประคองเศรษฐกิจของเมียนมาในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ เพราะถึงแม้นานาประเทศจะคว่ำบาตรเมียนมาภายใต้รัฐบาลทหาร แต่เมียนมากับจีน ได้มีการเปิดเส้นทางการค้าระหว่างกัน นับเป็นการช่วยเหลือเมียนมาทางเศรษฐกิจในอีกช่องทางหนึ่ง

 อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของสถานการณ์บ้านเมืองและความมั่นคงของเมียนมายังคงสูงจนน่าหวั่นใจ เนื่องจากความขัดแย้งและการสู้รบในประเทศยังไม่มีวี่แววว่าจะพบทางออกหรือแม้แต่ทางเจรจา

แม้ว่าขณะนี้ เป็นเวลา 2 ปีหลังจากกองทัพเข้ายึดอำนาจ ชีวิตของประชาชนในย่างกุ้งและเมืองใหญ่อื่นๆ ได้กลับสู่ภาวะปกติ แต่ในพื้นที่ชนบทและในเขตปกครองของกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ ยังคงมีการสู้รบทำให้ประเทศจมปลักอยู่ในความขัดแย้งที่ฝังลึก

กลุ่มองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่า กองทัพและกองกำลังความมั่นคงเมียนมาได้ดำเนินการจับกุม ทรมาน และปฏิบัติโดยมิชอบอื่นๆ ตามอำเภอใจ เพื่อปราบปรามกลุ่มผู้เห็นต่าง กองทัพเมียนมาหันมาใช้การโจมตีทางอากาศที่มีผลทำให้มีผู้เสียชีวิตมากขึ้นเรื่อย ๆ

ฝ่ายรัฐบาลทหารอ้างความชอบธรรมในการกวาดล้างกลุ่มต่อต้าน ที่เป็นกองกำลังติดอาวุธ เช่น กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defense Force: PDF) ซึ่งพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำสูงสุดของเมียนมา กล่าวหาว่า กลุ่มต่อต้านนี้ได้หันไปใช้วิธีวางระเบิดและลอบสังหารเจ้าหน้าที่ทหารและผู้สนับสนุนกองทัพ ถือเป็นความพยายามยึดอำนาจด้วย ‘วิธีการบีบบังคับที่มิชอบ’ และนั่นก็ถูกนำมาเป็นข้ออ้างว่า “สถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ” จนต้องนำไปสู่การขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศออกไปอีก 6 เดือนครั้งล่าสุด

ปฏิกริยาอเมริกาและอาเซียน

ด้านโฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาแถลงว่า สหรัฐคัดค้านอย่างยิ่งต่อการที่รัฐบาลทหารเมียนมา ขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้การปกครองไม่ชอบธรรมและความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับประเทศต้องยืดเยื้อต่อไปอีก นอกจากนี้ ยังระบุว่า สหรัฐและนานาประเทศไม่ยอมรับความน่าเชื่อในระดับสากลของรัฐบาลเมียนมา ความพยายามที่จะจัดการเลือกตั้งในรูปแบบที่ครอบงำโดยรัฐบาลทหาร จะยิ่งเพิ่มความรุนแรงและความไร้เสถียรภาพ และจะไม่ใช่การเลือกตัวแทนของประชาชนในประเทศอย่างแท้จริง

ขณะที่นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ ให้สัมภาษณ์ว่า เขามีแผนจะส่งนายพลระดับสูงไปยังเมียนมาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อพูดคุยกับผู้นำรัฐบาลทหาร ด้วยความหวังที่จะแสดงให้กองทัพเมียนมาได้เห็นว่า อินโดนีเซียประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยได้อย่างไร

"มันเป็นเรื่องของวิธีการและแนวทางในการปฏิบัติ เรามีประสบการณ์ เพราะที่อินโดนีเซีย สถานการณ์ก็เหมือนกัน ประสบการณ์ที่เรามีนี้ สามารถที่จะแบ่งปันกันได้ว่า อินโดนีเซียเริ่มต้น ความเป็นประชาธิปไตยอย่างไร" ปธน.วิโดโดกล่าว

ทั้งนี้ อินโดนีเซียซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก เคยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารโดยซูฮาร์โตมายาวนานกว่า 30 ปี ก่อนที่เขาจะก้าวลงจากตำแหน่งหลังการประท้วงครั้งใหญ่และวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2541

ปัจจุบันอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รับตำแหน่งประธานอาเซียนปีนี้ (2566) และจะกลายเป็นผู้เล่นหลักที่รับผิดชอบต่อความพยายามในการแก้ไขปัญหาเมียนมาที่การยึดอำนาจโดยกองทัพยืดเยื้อยาวนานครบ 2 ปีแล้ว