ทวิตเตอร์จ่อเก็บค่าบริการยืนยันตัวตนแบบ 2FA ถ้าเคยใช้ฟรีต้องยกเลิก

22 ก.พ. 2566 | 06:49 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.พ. 2566 | 07:18 น.

ทวิตเตอร์จ่อเก็บค่าบริการยืนยันตัวตนแบบสองชั้น หรือ 2FA เริ่มใช้ 20 มี.ค.สงวนให้ผู้จ่ายรายเดือนเท่านั้น เตือนผู้เคยใช้ฟรีให้ยกเลิก ก่อนล็อกอินไม่ได้

 

"ทวิตเตอร์" เตรียมเลิกให้ บริการยืนยันตัวตนแบบสองชั้น หรือ Two-Factor Authentication (2FA) แก่ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ที่ไม่ได้เป็น สมาชิกแบบเสียค่าบริการรายเดือน

ทั้งนี้ บริการ 2FA คือการตรวจสอบตัวตนบุคคลที่ล็อกอินใช้งานทวิตเตอร์แบบสองชั้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับบัญชีออนไลน์ของผู้ใช้งานอีกชั้นหนึ่ง นอกเหนือไปจากการป้อนรหัสเพียงอย่างเดียว

อธิบายง่ายๆ คือ 2FA เป็นการล็อกอินขั้นที่ 2 หลังจากล็อกอินด้วยรหัสผ่าน (password) ตามปกติแล้ว ยังจะมีการยืนยันผ่าน รหัสผ่านแบบครั้งเดียว (OTP) ที่ทางระบบจะส่งให้เราผ่านข้อความ SMS บนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน หรือทางแอป Authentication เพื่อป้อนรหัสให้ตรงกัน และยืนยันตัวตน

โดยรหัส OTP จะเป็นรหัสผ่านที่ใช้งานได้เพียงครั้งเดียว และมีอายุการใช้งานสั้นมาก อาจจะไม่เพียงกี่วินาที อย่างมากสุดก็ราว 15 นาที ซึ่งหากไม่ใช่เจ้าของบัญชี และไม่มี OTP หรือป้อนรหัสไม่ถูกต้อง ก็จะไม่สามารถล็อกอินได้

ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.2566 เป็นต้นไป บริการ 2FA นั้น จะสงวนเอาไว้ให้เฉพาะผู้ใช้บริการ Twitter Blue เท่านั้น

ทว่าเมื่อวันเสาร์ที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ฝ่ายสนับสนุนการใช้งานของทวิตเตอร์ หรือ Twitter Support ประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.2566 เป็นต้นไป บริการ 2FA นั้น จะสงวนเอาไว้ให้เฉพาะผู้ใช้บริการทวิตเตอร์ บลู (Twitter Blue) เท่านั้น โดยทวิตเตอร์ บลู เป็นบริการประเภทเสียค่าสมาชิกรายเดือน

ขณะเดียวกัน ผู้ใช้งาน 2FA ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกทวิตเตอร์บลูบางรายได้รับข้อความแจ้งเตือนจากทวิตเตอร์ โดยระบุให้ผู้ใช้งานรีบดำเนินการยกเลิกการใช้บริการ 2FA ก่อนถึงกำหนดเส้นตาย มิฉะนั้น จะไม่สามารถล็อกอินใช้งานบัญชีทวิตเตอร์ได้

นายอีลอน มัสก์ เจ้าของทวิตเตอร์ระบุว่า แอปยืนยันตัวตนของทวิตเตอร์นั้นมีความปลอดภัยมากกว่าวิธีการยืนยันตัวตนอื่น ๆ โดยทวิตเตอร์เคยถูกบริษัทโทรศัพท์ฉ้อโกงและต้องจ่ายเงินกว่า 60 ล้านดอลลาร์ต่อปี เพราะข้อความ SMS 2FA ปลอม จึงจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มงวดและมีมาตรการเพื่อความปลอดภัยมากขึ้น