นักวิทย์ฯ เตือนโลกจะเผชิญคลื่นความร้อนและภัยแล้ง ที่รุนแรงและนานขึ้น

22 มี.ค. 2566 | 00:32 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มี.ค. 2566 | 01:37 น.

นักวิทยาศาสตร์ระบุ ปรากฏการณ์ลานีญา 3 ปีซ้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยจะมี“เอลนีโญ”เข้ามาแทนที่ ทำให้โลกต้องเผชิญคลื่นความร้อนและความแห้งแล้งที่รุนแรงและยาวนานยิ่งขึ้น

 

กรมอุตุนิยมวิทยา ของประเทศออสเตรเลีย ประกาศเมื่อเร็วๆนี้ว่า ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในแบบจำลองภูมิอากาศโลกปัจจุบัน ชี้ถึง “สภาวะหยุดนิ่ง” เป็นกลางทางภูมิอากาศ ซึ่งโดยปกติจะเกิดขึ้นระหว่างการสลับสับเปลี่ยนไปมาระหว่างปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” และ “ลานีญา” ซึ่งนั่นหมายความว่า ปรากฏการณ์ลานีญาที่ยาวนานถึง 3 ปีซ้อน ได้สิ้นสุดลงแล้วอย่างเป็นทางการ และบรรดานักอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า จะเกิดสภาพภูมิอากาศแบบ “ขั้วตรงข้าม” ติดตามมาในไม่ช้า ซึ่งก็คือปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ที่มีความรุนแรงกว่าในอดีต โดยมีโอกาสจะเกิดขึ้นภายในปีนี้กว่า 50%

โดยทั่วไปแล้ว ปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นและอาจเกิดภัยแล้งเป็นวงกว้าง โดยเอลนีโญสามารถผลักดันให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นได้อีกราว 0.2 องศาเซลเซียส จึงนับว่าเสี่ยงต่อการทำให้โลกร้อนขึ้นจนเกินขีดจำกัด ซึ่งนานาประเทศได้กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เหนือระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันโลกร้อนขึ้นกว่าระดับมาตรฐานในอดีตอยู่แล้วถึง 1.2 องศาเซลเซียส

ดร. นันทินี ราเมศ นักวิจัยอาวุโสด้านภัยธรรมชาติ ประจำองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) เปิดเผยกับสำนักข่าวบีบีซี สื่อใหญ่ของอังกฤษว่า ถึงแม้ยังไม่อาจทำนายได้อย่างแน่นอนว่า สภาพอากาศทั่วโลกจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดหลังจากนี้ แต่แบบจำลองภูมิอากาศส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า อาจเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญซึ่งจะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้น

สภาพความแห้งแล้งของทะเลสาบน้ำจืด "โปหยาง" ในประเทศจีน

ปรากฏการณ์เอลนีโญยังสามารถทำให้เกิดคลื่นความร้อนและภัยแล้งเป็นบริเวณกว้าง เนื่องจากน้ำทะเลในตอนกลางและทางตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเส้นศูนย์สูตรจะอุ่นขึ้น ส่งผลให้กระแสลมกรดในแถบนั้นเคลื่อนตัวพัดลงใต้ นำพาอากาศร้อนและแห้งไปยังแถบตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกมากขึ้น โดยปรากฏการณ์นี้มักจะเกิดขึ้นเป็นเวลานาน 12-18 เดือน ในแต่ละครั้ง

สำหรับการเกิดลานีญาถึง 3 ปีซ้อน (ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไปนั้น) จัดว่าเป็นปรากฏการณ์ที่หาพบได้ยากมาก โดยเคยมีการบันทึกไว้เพียง 2 ครั้งในประวัติศาสตร์โลก ระหว่างช่วงปี 1973-1976 และ 1998-2001

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Geophysical Research Letters เมื่อปี 2565 ซึ่งทำการศึกษาโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยวอชิงตันในสหรัฐอเมริกา บ่งชี้ว่าความผิดปกติของปรากฏการณ์ลานีญาเกิดจากการกระทำของมนุษย์ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา มากกว่าจะเป็นวงจรความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ

คลื่นความร้อนและความแห้งแล้งจะทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างยาวนานในภูมิภาคแปซิฟิกหลังจากนี้

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ของทีมวิจัยมองว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกในระยะยาว จะส่งผลเอื้อให้ปรากฏการณ์เอลนีโญ (ซึ่งตรงข้ามกับลานีญา) เกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่า โดยคลื่นความร้อนและความแห้งแล้งจะทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างยาวนานในภูมิภาคแปซิฟิกหลังจากนี้

ทั้งนี้ เอลนีโญ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ผิวน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันออกในเขตร้อนมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติ มีผลให้แพลงก์ตอน และปลาลดจำนวนลง ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทุก ๆ 7-14 ปี อันเป็นผลจากการอ่อนกำลังของลมสินค้าตะวันออกเฉียงใต้ในมหาสมุทรแปซิฟิก และยังมีผลกระทบไปถึงภูมิอากาศของบริเวณชายฝั่งใกล้เคียง ทำให้ฝนตกน้อยลง

ส่วน ลานีญา เป็นปรากฏการณ์ตรงกันข้ามกับเอลนีโญ เป็นภาวะที่อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลตลอดมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางตะวันออกแถบเส้นศูนย์สูตรจะต่ำกว่าปกติ 3-5 °C และผลกระทบของลานีญา ก็มักจะตรงกันข้ามกับของเอลนีโญ คือทำให้ฝนตกหนักและอากาศหนาวเย็นในแถบแปซิฟิก

 

ข้อมุลอ้างอิง