รายงานล่าสุดของ ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ระบุว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และแปซิฟิกยังคงมีความยืดหยุ่นมากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ และมีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะขยายตัวเร็วขึ้นในปีนี้ (2566) เมื่อเทียบกับปี 2565 แม้จะยังคงหลงเหลือผลกระทบจากโรคโควิด-19 ระบาดและสงครามอยู่บ้างก็ตาม
ทั้งนี้ ธนาคารโลกเผยแพร่ รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ฉบับล่าสุดวันนี้ (31 มี.ค.) โดยระบุว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมีแนวโน้มที่จะขยายตัวประมาณ 5.1% ในปีนี้ (2566) หลังขยายตัว 3.5% ในปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่ธนาคารโลกเคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนต.ค.ว่าจะขยายตัวเพียง 4.6% ในปี 2566
ปัจจัยหลักมาจากแรงหนุนจากจีน ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัว 5.1% ในปีนี้ เมื่อเทียบกับที่ธนาคารโลกได้เคยคาดการณ์ไว้ที่ 4.5% ในรายงานฉบับเดือนต.ค.ที่ผ่านมา
รายงานระบุว่า การขยายตัวในระยะใกล้ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกนั้นจะขึ้นอยู่กับผลผลิตทั่วโลก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวในปีนี้เมื่อเทียบกับปี 2565 รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งเริ่มลดลง และการเดินหน้าคุมเข้มทางการเงินเนื่องจากเงินเฟ้อในสหรัฐยังคงอยู่ในระดับสูง ธนาคารของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะยังคงค่อนข้างมีความยืดหยุ่นภายใต้ภาวะกดดันทั่วโลก โดยภาคการเงินยังคงมีสถานะด้านเงินทุนที่ดี ยกเว้นสำหรับเวียดนาม
"ความเสียหายจากโรคระบาด สงคราม ตลอดจนการคุมเข้มด้านการเงินต่อประชาชน บริษัท และรัฐบาล เสี่ยงที่จะชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มความไม่เสมอภาค" ธนาคารโลกระบุ
อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วกลุ่มนักลงทุนที่นิยมหุ้นในตลาดเกิดใหม่ของเอเชีย และเพิ่มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในภูมิภาคดังกล่าวมากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก ยังคงค่อนข้างมีมุมมองเชิงบวกต่อทิศทางเศรษฐกิจระยะใกล้ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก
นางเส้า อวี้ถิง นักกลยุทธ์ระดับมหภาคของบริษัทสเตต สตรีต แบงก์ แอนด์ ทรัสต์ คอมปานี เป็นหนึ่งในผู้ที่ยังให้ความสนใจในหุ้นตลาดเกิดใหม่ของเอเชีย เนื่องจากมองว่าจะได้รับผลกระทบเชิงบวกจากเศรษฐกิจจีน
ทั้งนี้ เอเชียค่อนข้างปลอดภัยจากมุมมองเชิงลบโดยรวมที่มีต่อสถานะของตลาดเกิดใหม่ นักวิเคราะห์ยังคาดการณ์ว่า เม็ดเงินจะไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ของเอเชียแบบค่อนข้างยืดหยุ่น
อย่างไรก็ตาม รายงานของธนาคารโลกระบุว่า แนวโน้มทางเศรษฐกิจในระยะยาวนั้นมีความท้าทายมากกว่า โดยเจ้าหน้าที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก จะต้องเผชิญกับปัญหาหลากหลายประการ ตั้งแต่การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก