"อินเดีย"ขึ้นแท่นแชมป์ "ประเทศประชากรมากที่สุดในโลก"แซงหน้าจีนกลางปีนี้

21 เม.ย. 2566 | 05:12 น.
อัปเดตล่าสุด :21 เม.ย. 2566 | 07:21 น.

ยูเอ็นคาดอินเดียเตรียมแซงหน้าจีนในฐานะประเทศประชากรมากที่สุดโลกกลางปีนี้ โดยจะมีจำนวนประชากรมากกว่าจีนราว 3 ล้านคน 

 

องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)เปิดเผยรายงาน สถานการณ์ประชากรโลก ที่จัดทำโดยกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA)เมื่อวันพุธ (19 เม.ย.)ระบุว่า ภายในกลางปี 2566 นี้ ประชากรอินเดีย จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,429 ล้านคน ขณะที่ ประชากรจีน อยู่ที่ 1,426 ล้านคน ซึ่งทิ้งห่างกันประมาณ 3 ล้านคน ทำให้อินเดียผงาดขึ้นมาเป็น ประเทศที่มีประชากรสูงที่สุดในโลก แทนที่จีน

ขณะที่อันดับสามคือ สหรัฐอเมริกา ตามมาแบบห่าง ๆ ด้วยจำนวนประชากรประมาณ 340 ล้านคนภายในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้

คาดว่าประชากรอินเดียจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,429 ล้านคนแซงหน้าจีนกลางปีนี้

รายงานข่าวระบุว่า ถึงแม้ทั้งอินเดียและจีนจะมีจำนวนประชากรรวมกันคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรโลกที่มีอยู่ประมาณ 8,045 ล้านคน แต่อัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรก็เริ่มชะลอตัวลงในทั้งสองประเทศ

เมื่อปี 2565 ประชากรจีนลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ทศวรรษ นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งประวัติศาสตร์ในแง่ประชากร ซึ่งมีความหมายต่อเศรษฐกิจแดนมังกรเองและทั่วโลก

หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวเมื่อวันพุธ (19 เม.ย.)ว่า การปันผลทางประชากร หรือโอกาสทางเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของจีนไม่ได้ขึ้นอยู่กับ "ปริมาณ" แต่ยังรวมถึงเรื่อง "คุณภาพ"ด้วย

หวังชี้ว่า ประชากรนั้นมีความสำคัญแต่ประชากรที่มีศักยภาพก็สำคัญเช่นกัน "จีนมีมาตรการเชิงรุกเพื่อดูแลประชากรผู้สูงวัยแล้ว” นอกจากนี้ ยังชี้ด้วยว่า นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีได้แสดงให้เห็นว่า การปันผลจากประชากรที่มีศักยภาพกำลังเติบโตขึ้น และแรงผลักดันด้านการพัฒนาของจีนก็ยังคงแข็งแกร่ง

แล้วอะไรที่เป็นเรื่องน่ากังวลด้านประชากร

ยังไม่มีปฏิกิริยาจากอินเดียเกี่ยวกับสถิติประชากรของประเทศ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลอินเดียระบุว่ายังไม่มีการหารือในประเด็นประชากรอินเดียในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่มีขึ้นเมื่อวันพุธที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ตามข้อมูลของทางการอินเดีย ประชากรอินเดียมีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.2% ตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา ซึ่งลดลงจากอัตราการขยายตัวที่ 1.7% ในทศวรรษก่อนหน้า 

การสำรวจความเห็นประชาชนโดยกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ หรือ UNFPA ในรายงานปีนี้ ชี้ว่า ผู้คนในอินเดีย บราซิล อียิปต์ และไนจีเรีย สะท้อนความเห็นว่าประชากรของประเทศตนเองมี "มากเกินไป" และอัตราการเจริญพันธุ์ก็ "สูงเกินไป"ด้วย

แอนเดรีย วอจนาร์ ตัวแทนจาก UNFPA ในอินเดีย ระบุในแถลงการณ์ว่า การสำรวจในอินเดียพบว่าความกังวลเรื่องประชากรเป็นสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากให้ความใส่ใจ และว่า “จำนวนประชากรไม่ควรทำให้เกิดความกังวลหรือตื่นตระหนกไป แต่ควรเป็นสัญลักษณ์แห่งความก้าวหน้า การพัฒนา และโอกาส หากสิทธิและทางเลือกของประชาชนได้รับการปกป้อง”

ด้านพูนัม มุตเตรจา เจ้าหน้าที่จากกลุ่มอาสาสมัครของมูลนิธิ Population Foundation of India กล่าวว่า อินเดียได้ทำหลายสิ่งที่ถูกต้องในการติดตามการเพิ่มขึ้นของประชากร แต่ขณะเดียวกันเขาก็ย้ำถึงบางปัญหาเกี่ยวเนื่องที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน “ในเวลาเดียวกันเราต้องแน่ใจว่าเด็กหญิงและผู้หญิงของอินเดีย ไม่ได้ถูกบังคับให้แต่งงานและตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งถือเป็นการจำกัดโอกาสของพวกเธอ”

 

ข้อมูลอ้างอิง