หน่วยงานที่ติดตาม การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ ของ สหภาพยุโรป หรือ The European Commission’s Copernicus Climate Change เปิดเผยเมื่อเร็วๆนี้ว่า การเปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลังไปหลายทศวรรษ แสดงให้เห็นว่า อุณหภูมิความร้อนที่สูงมาก เป็นประวัติการณ์ในปีที่แล้ว (2565) ส่งผลให้เกิด ความเครียด และสภาวะที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์
นอกจากนี้ ยุโรปทางตอนใต้ต้องประสบกับ “ภาวะความเครียด” จากความร้อนที่รุนแรงมากเป็นเวลายาวนานที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีอุณหภูมิตั้งแต่ 38 ถึง 46 องศาเซลเซียส (หรือ 100 ถึง 115 องศาฟาเรนไฮต์) เลยทีเดียว
ทั้งนี้ จำนวนวันในฤดูร้อนที่มีภาวะความเครียดจากความร้อนที่ "รุนแรง" หรือ “รุนแรงมาก” ณ อุณหภูมิ 32- 38 องศาเซลเซียส เพิ่มขึ้นทั่วทั้งทวีป ในขณะที่ทางตอนใต้ของยุโรป ภาวะ "ความเครียดจากความร้อนสูง" อยู่ที่อุณหภูมิสูงกว่า 46 องศาเซลเซียส
นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มการลดลงของจำนวนวันที่ไม่มีภาวะความเครียดจากความร้อนอีกด้วย
ความเครียดจากความร้อนถูกมองว่าเป็นปัญหาสำคัญมากขึ้นทั่วโลก ในขณะที่ภาวะโลกร้อนเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่หลากหลาย เช่น การเกิดผดผื่นบนผิวหนัง ภาวะขาดน้ำ และการเป็นลมแดด เป็นต้น
คำเตือนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของรายงานด้านสภาพภูมิอากาศประจำปีของหน่วยงาน Copernicus European State ที่ยืนยันว่า ทวีปยุโรปประสบภาวะที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์เป็นครั้งที่สองในปี 2565
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ฤดูร้อนปี 2565 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ทั่วทั้งยุโรป โดยมีอุณหภูมิสูงกว่าช่วงเวลาอ้างอิงในปี ค.ศ.1910-2020 (พ.ศ.2453-2563) ถึง 1.4 องศาเซลเซียส (หรือ 2.5 อาศาฟาเรนไฮต์) ส่วนที่ภูมิภาคสวาลบาร์ดในแถบอาร์กติกมีอุณหภูมิในฤดูร้อนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 2.5 องศาเซลเซียส (หรือ 4.5 องศาฟาเรนไฮต์)
หน่วยงาน Copernicu ระบุด้วยว่า อุณหภูมิที่สูงและปริมาณน้ำฝนที่ต่ำยังส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งเป็นวงกว้าง ในขณะที่ไฟป่าในฤดูร้อนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงสุดในรอบ 15 ปี
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้นำไปสู่การละลายของธารน้ำแข็งบนเทือกเขาสูงของยุโรปมากเป็นประวัติการณ์ โดยน้ำแข็งหายไปมากกว่า 5 ลูกบาศก์กิโลเมตรแล้ว