ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ลงนามในกฤษฎีกาฉบับใหม่เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งการมีผลบังคับใช้ของกฤษฎีกาดังกล่าว ทำให้เครมลินสามารถเข้าควบคุมสินทรัพย์ของ บริษัทพลังงานต่างชาติ 2 รายในรัสเซียได้เป็นการชั่วคราว ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ส่งสัญญาณให้ทั่วโลกรับรู้ว่า รัฐบาลมอสโกจะสามารถเลือกทำการเช่นนี้กับธุรกิจต่างชาติอื่นใดก็ได้ หากรัสเซียต้องการ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเกี่ยวกับกฤษฎีกาฉบับนี้ ระบุว่า นี่คือการเสนอให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่ารัสเซียมีวิธีตอบโต้อย่างไร หากรัฐบาลประเทศใด ๆ ทำการยึดทรัพย์สินของรัสเซีย
ทั้งนี้ สินทรัพย์ของบริษัทต่างชาติที่ถูกรัฐบาลรัสเซียยึดไว้ชั่วคราว คือ ธุรกิจสาขาของบริษัท ยูนิเปอร์ (Uniper SE) ของเยอรมนี และ สินทรัพย์ของบริษัท ฟอร์ทุม (Fortum Oyj) ของฟินแลนด์
กฤษฎีกาดังกล่าวมีเนื้อหาระบุว่า รัสเซียจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อโต้ตอบแผนงานที่ไม่ชัดเจนของสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ ซึ่งมอสโกกล่าวว่า "ไม่เป็นมิตร" และ "ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ"
กฤษฎีกาฉบับนี้ระบุว่า หุ้นของบริษัทต่างชาติทั้งสองรายได้เข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมเป็นการชั่วคราวของโรซิมุชเชสต์โว (Rosimushchestvo) ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลทรัพย์สินของรัฐบาลกลางรัสเซียแล้ว
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐกล่าวว่า รัสเซียควรจะต้องร่วมรับผิดชอบต้นทุนของความเสียหายที่เกิดจากสงครามในยูเครน แม้จะมีอุปสรรคทางกฎหมายอันมีนัยสำคัญอยู่ที่ทำให้การเข้ายึดสินทรัพย์สำคัญ ๆ ของรัสเซียที่ถูกอายัดไว้แล้วเป็นไปไม่ได้ก็ตาม
การประกาศยึดสินทรัพย์ธุรกิจต่างชาติของรัฐบาลรัสเซียครั้งนี้เกิดขึ้น หลังจากซีอีโอของ แบงค์ วีทีบี (Bank VTB PAO) ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐ กล่าวเมื่อวันจันทร์ (24 เม.ย.)ว่า รัสเซียควรพิจารณาเข้ายึดและทำการจัดการสินทรัพย์ของบริษัทต่างชาติ เช่น ฟอร์ทุม จนกว่าจะมีการยกเลิกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย
ทั้งนี้ สำนักข่าวทาสส์ (TASS) สื่อของทางการรัสเซีย รายงานโดยอ้างข้อมูลจากหน่วยงานโรซิมุชเชสต์โว ว่า “กฤษฎีกานี้ไม่ได้มีผลต่อประเด็นความเป็นเจ้าของและไม่ได้กีดกันเจ้าของสินทรัพย์ทั้งหลายออกไปด้วย การจัดการจากภายนอกนั้นเป็นไปในลักษณะชั่วคราว แต่ก็มีความหมายว่า เจ้าของดั้งเดิมนั้นไม่มีสิทธิ์ที่จะทำการตัดสินใจด้านการบริหารอีกต่อไปแล้ว”
เมื่อบริษัทต่างชาติจำเป็นต้องเลือกข้าง
การทำสงครามของรัสเซียในยูเครนซึ่งขณะนี้ยืดเยื้อเข้าสู่ปีที่สองแล้ว ส่งผลให้รัฐบาลเครมลินถูกคว่ำบาตรและลงโทษด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจจากนานาชาติหลายระลอก
แมรี่ เลิฟลี่ นักวิเคราะห์อาวุโสแห่งสถาบันรัฐศาสตร์ Peterson Institute ในกรุงวอชิงตัน อธิบายว่า “รัสเซียได้กลายเป็นประเทศที่ถูกผู้ประกอบธุรกิจทั่วโลกรังเกียจและหันหลังให้” และว่า “แทบไม่มีบริษัทใด รวมทั้งบริษัทข้ามชาติทั้งหลาย ต้องการจะเอาตัวเองเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรืออยู่กับฝ่ายเดียวกับประเทศที่โดนมาตรการลงโทษของสหรัฐและชาติตะวันตก”
อย่างไรก็ตาม คำสั่งของรัฐบาลเครมลินที่ห้ามไม่ให้นักลงทุนเทขายทรัพย์สินในรัสเซียได้สร้างความยากลำบากให้กับบริษัทต่างๆ ที่ต้องตบเท้าออกจากรัสเซียไป
ก่อนหน้านี้ บริษัทพลังงานทั้งใหญ่และเล็กจากประเทศต่างๆ ได้ประกาศยกเลิกการลงทุนในโครงการใหญ่ๆกับรัสเซียแล้ว โดยในปีที่ผ่านมา (2565) บีพี (BP) ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของอังกฤษ ได้ถอนหุ้นมูลค่าถึง 14,000 ล้านดอลลาร์จากโครงการพลังงานรอสเนฟต์ (Rosneft) ของรัฐบาลรัสเซีย หลังจากนั้นเวลาไล่เลี่ยกัน บริษัทเชลล์ (Shell) ก็ประกาศยกเลิกการร่วมลงทุนกับบริษัท ก๊าซพรอม (Gazprom) ของรัฐบาลรัสเซีย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในโครงการท่อส่งน้ำมัน Nord Stream 2 ที่ลำเลียงพลังงานจากรัสเซียไปยังยุโรป ตามมาด้วยเอ็กซอนโมบิล (ExxonMobil) ที่ได้ประกาศยุติการลงทุนในโครงการใหม่ๆ ของรัสเซียไปด้วยเช่นกัน
บรรดาบริษัทในภาคธุรกิจอื่นๆ ต่างก็ออกมาประณามรัสเซียอย่างชัดเจนต่อการส่งกองทัพบุกยูเครนกันมากมาย เพราะปรากฏการณ์ข้างต้นเป็นทั้งการป้องกันธุรกิจจากมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจและยังเป็นการรักษาภาพลักษณ์ของบริษัทเองด้วย