ก่อนจะติดตามรับชม การถ่ายทอดสด พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 จากมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในวันนี้ เสาร์ที่ 6 พฤษภาคม 2566 ซึ่งสำหรับสื่อในประเทศไทยจะเริ่มการถ่ายทอดสดตั้งแต่เวลาประมาณ 16.00 น. หรือ 16.30 น. เป็นต้นไป สามารถติดตามได้ทางช่อง ThaiPBS, PPTV และ TNN หรือทางสื่อต่างประเทศ BBC , Sky News และ CNN
เราได้ประมวล “เรื่องน่ารู้” เกี่ยวกับพระราชพิธีครั้งประวัติศาสตร์ดังกล่าวเอาไว้ ณ ที่นี้แล้ว เพื่อให้ผู้อ่านได้รับชมพระราชพิธีอย่างมีอรรถรสมากยิ่งขึ้น
1) ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 สมเด็จพระราชินีคามิลลา จะทรงได้รับการสวมพระมหามงกุฎพร้อมกัน โดยกษัตริย์พระองค์ใหม่นี้ ถือเป็นพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษลำดับที่ 40 ที่ได้ประกอบพิธีราชาภิเษกในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ใจกลางกรุงลอนดอน นับตั้งแต่ปีค.ศ. 1066 เป็นต้นมา โดยพีธีกรรมต่าง ๆ ที่จะมีขึ้นในวันสำคัญนี้ ส่วนใหญ่เป็นไปตามขนบธรรมเนียมโบราณที่ถือปฏิบัติกันมาโดยแทบจะไม่เปลี่ยนแปลง ตลอดระยะเวลากว่า 1,000 ปีในหน้าประวัติศาสตร์
2) งานพระราชพิธีจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ ด้วยการเคลื่อนขบวนเสด็จจากพระราชวังบักกิงแฮมไปยังมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ในกรุงลอนดอน ช่วงเวลาก่อน 11.00 น. เล็กน้อย (เวลาตามหมายกำหนดการทั้งหมดที่ระบุนี้ เป็นเวลามาตรฐานอังกฤษ (BST) ซึ่งช้ากว่าเวลาไทย 6 ชั่วโมง)
ทั้งนี้ จะเปิดพื้นที่เฝ้าชมขบวนเสด็จสองข้างทางให้ประชาชนได้เข้าจับจองตั้งแต่เช้าตรู่ราว 06.00 น. (ซึ่งเท่ากับเวลาประมาณ 12.00 น. ของวันเดียวกัน ตามเวลาไทย) เส้นทางของขบวนเสด็จจะเป็นดังนี้ คือจากพระราชวังบักกิงแฮม เสด็จตามถนนเดอะมอลล์ มุ่งไปยังจัตุรัสทราฟัลการ์ และซุ้มประตูแอดไมรัลที จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนไวต์ฮอลล์และถนนรัฐสภาตามลำดับ ก่อนจะเข้าสู่จัตุรัสรัฐสภาและอาคาร Broad Sanctuary เพื่อไปยังประตูใหญ่ทิศตะวันตกของมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์
3) กรณีพื้นที่ริมถนนเดอะมอลล์และถนนไวต์ฮอลล์ ซึ่งเป็นเส้นทางที่ขบวนเสด็จจะเคลื่อนผ่าน ถูกจับจองเต็มแล้ว รัฐบาลอังกฤษได้จัดสรรที่นั่งให้ประชาชนสามารถรับชมการถ่ายทอดสดจากจอโทรทัศน์ขนาดใหญ่ ในสวนสาธารณะต่างๆ เช่น ไฮด์พาร์ก, กรีนพาร์ก, และสวนหลวงเซนต์เจมส์ ขณะเดียวกัน แขกพิเศษ 200 คน ได้รับการจัดเตรียมอัฒจันทร์สำหรับเฝ้าชมขบวนเสด็จ ที่บริเวณด้านหน้าพระราชวังบักกิงแฮม โดยแขกรับเชิญเหล่านี้ ได้แก่ เหล่าทหารผ่านศึก รวมทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และนักสังคมสงเคราะห์ที่ได้รับคัดเลือกจากสำนักพระราชวัง
4) ขบวนเสด็จในวันสำคัญนี้ ใช้กำลังทหารไม่ถึง 200 นายจากทุกเหล่าทัพ เพื่อถวายการอารักขา โดยส่วนใหญ่เป็นกองทหารม้ารักษาพระองค์ (Household Cavalry) ซึ่งจะมาประจำการแต่เช้าตรู่ที่พระราชวังบักกิงแฮม เพื่อเตรียมเข้าร่วมขบวนเสด็จไปยังมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์
สำหรับการรักษาความปลอดภัยโดยรวมนั้น จะมีเจ้าหน้าที่ 1,000 คน ประจำการที่สองข้างทางซึ่งขบวนเสด็จจะเคลื่อนผ่าน แต่ขบวนเสด็จในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้จะมีผู้เข้าร่วม “น้อยกว่า” ในปีค.ศ. 1953 เมื่อครั้งที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงขึ้นครองราชย์เป็นอย่างมาก โดยในครั้งนั้นมีบรรดาพระราชวงศ์ต่างประเทศและนายกรัฐมนตรีของรัฐในเครือจักรภพเข้าร่วมขบวนเสด็จด้วย
5) สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา จะเสด็จด้วย “ราชรถพัชราภิเษก” ซึ่งทำขึ้นใหม่เมื่อปี 2012 ที่ประเทศออสเตรเลีย (เป็นการสั่งทำเพื่องานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของควีนเอลิซาเบธที่2) โดยทรงยกเลิกการใช้ราชรถทองคำตามธรรมเนียมดั้งเดิม เนื่องจากเป็นพระราชพาหนะรุ่นเก่าที่ไม่ค่อยสะดวกสบายนัก ทั้งนี้ ราชรถพัชราภิเษกมีโครงสร้างเป็นอะลูมิเนียม ความยาว 5.4 เมตร หนัก 3 ตัน ติดตั้งระบบไฮดรอลิก ด้านในมีระบบปรับอากาศ ลากจูงโดยม้า 6 ตัว (มีทหารม้า 3 นาย)
6) คาดว่า ขบวนเสด็จจะไปถึงสถานที่ประกอบพระราชพิธีก่อน 11.00 น. เล็กน้อย โดยสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 อาจเลือกทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบทหาร แทนที่จะเป็นเครื่องแต่งกายของบุรุษแบบโบราณ ซึ่งเป็นชุดที่สวมกางเกงสั้นเหนือเข่าและสวมถุงน่อง ตามแบบอย่างของกษัตริย์ในอดีต เช่นเมื่อครั้งพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าจอร์จที่ 6 (พระอัยกาของคิงชาร์ลส์ที่3) ซึ่งทรงฉลองพระองค์ของบุรุษแบบโบราณ
7) เมื่อเสด็จเข้าสู่ด้านในของมหาวิหาร จะทรงพระดำเนินผ่านประตูใหญ่ทิศตะวันตก จนเข้าถึงโถงใหญ่และบริเวณศูนย์กลางของมหาวิหาร พิธีจะเริ่มขึ้นในเวลา 11.00 น. (หรือราว 17.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) ด้วยการบรรเลงดนตรี ซึ่งกษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงเลือกสรรมาด้วยพระองค์เอง ทั้งยังโปรดให้มีการประพันธ์เพลงขึ้นใหม่ถึง 12 เพลงด้วย รวมถึงผลงานของแอนดรูว์ ลอยด์ เวบเบอร์ และดนตรีแบบกรีกออร์โธดอกซ์เพื่อรำลึกถึงเจ้าชายฟิลิป พระราชบิดา
เจ้าชายจอร์จ พระราชนัดดา จะทรงเป็นหนึ่งในหมู่เด็กชายเด็กหญิงผู้ทำหน้าที่เชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ร่วมกับพระนัดดาของสมเด็จพระราชินีคามิลลา 5 คน ได้แก่โลลา, เอไลซา, กุส, ลูอีส์, และเฟรดดี โดยขบวนของเด็ก ๆ เหล่านี้จะเดินนำหน้ากษัตริย์ภายในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ เพื่อนำสิ่งของสำหรับการประกอบพระราชพิธีไปวางไว้บนแท่นบูชาสูง
ภายในมหาวิหาร จะมีการจัดสรรพื้นที่ให้เป็นที่นั่งของผู้เข้าร่วมพระราชพิธีด้วย ซึ่งได้แก่ พระราชวงศ์ นายกรัฐมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ตลอดจนประมุขของรัฐ และบุคคลสำคัญอื่นๆ
8) สหราชอาณาจักรเป็นประเทศเดียวในแถบยุโรป ที่ยังคงมีการใช้งาน “เครื่องราชกกุธภัณฑ์” หรือ สิ่งของอันเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเป็นกษัตริย์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อันได้แก่ พระมหามงกุฎ ลูกโลกประดับกางเขน และ พระคทา
เครื่องราชกกุธภัณฑ์แต่ละชิ้น เป็นเครื่องหมายแทนบทบาทหน้าที่ในแต่ละด้านของพระมหากษัตริย์ที่แตกต่างกันออกไป โดยจะมีการถวายลูกโลก, พระคทากางเขน, พระคทานกพิราบ, และสิ่งของอื่น ๆ ในขั้นตอนสำคัญของพิธีราชาภิเษก ส่วนสมเด็จพระราชินีคามิลลานั้น จะทรงได้รับพระคทากางเขนและพระคทานกพิราบสำหรับราชินีอังกฤษเช่นกัน
9) พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งใช้เวลารวมกันทั้งหมดไม่เกิน 2 ชั่วโมง ได้แก่
ขั้นตอนที่ 1 : รับรองฐานะความเป็นกษัตริย์
จะมีการประกาศแนะนำพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ต่อปวงชน ตามธรรมเนียมเก่าแก่ซึ่งนับย้อนไปได้ถึงยุคแองโกล-แซ็กซอน โดยอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอเบอรีจะยืนอยู่หน้าบัลลังก์ราชาภิเษกอายุ 700 ปี ก่อนจะหันไปทางทิศต่าง ๆ ของมหาวิหาร พร้อมป่าวประกาศว่าสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 คือ “กษัตริย์พระองค์ใหม่ของพวกเรา อย่างไม่ต้องสงสัย” จากนั้นจะขอให้ผู้เข้าร่วมพระราชพิธีถวายความเคารพ และกล่าวถวายความจงรักภักดี ผู้เข้าร่วมพระราชพิธีจะเปล่งเสียงขึ้นพร้อมกันว่า “ขอพระผู้เป็นเจ้าทรงปกปักรักษาพระราชา” โดยจะมีการเป่าแตรหลังการกล่าวถวายความจงรักภักดีทุกครั้ง
ขั้นตอนที่ 2 : ทรงกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณ
อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอเบอรี นักบวชผู้มีสมณศักดิ์สูงสุดของศาสนจักรอังกฤษ จะขอให้กษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณ เพื่อยืนยันว่าจะทรงพิทักษ์รักษากฎหมายของแผ่นดินและศาสนจักรอังกฤษ โดยจะทรงวางพระหัตถ์ลงบนพระคัมภีร์ไบเบิลระหว่างตรัสคำปฏิญาณดังกล่าว ซึ่งเป็นขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ทรงปฏิบัติตาม
คาดว่าสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 อาจจะมีพระราชดำรัสเพิ่มเติมเป็นพิเศษในการนี้ เพื่อทรงแสดงการอุปถัมภ์รับรองศาสนาและความเชื่ออื่น ๆ ที่มีผู้นับถือกันในสหราชอาณาจักรด้วย แต่พระราชดำรัสนี้จะไม่รวมอยู่ในคำสัตย์ปฏิญาณที่เป็นทางการข้างต้น
ขั้นตอนที่ 3 : เจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์
ฉลองพระองค์คลุมและฉลองพระองค์ชั้นนอกที่เป็นชุดพิธีการจะถูกถอดออก จากนั้นกษัตริย์พระองค์ใหม่จะประทับบนบัลลังก์ราชาภิเษกเพื่อทรงรับการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อแสดงถึงสถานะผู้นำทางจิตวิญญาณและความเป็นองค์ประมุขสูงสุดของศาสนาจักรอังกฤษ
อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอเบอรีจะเทน้ำมันออกจากขวดอินทรีทองคำ โดยเทลงบนฉลองพระหัตถ์ช้อนราชาภิเษก ก่อนจะเจิมน้ำมันดังกล่าวเป็นเครื่องหมายกางเขนบนพระนลาฏ (หน้าผาก) พระอุระ (หน้าอก) และที่พระหัตถ์ทั้งสองข้าง
ขวดบรรจุน้ำมันศักดิ์สิทธิ์นั้นทำขึ้นสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 เมื่อหลายร้อยปีก่อน โดยเลียนแบบของเก่าและคติความเชื่อจากตำนานของนักบุญโทมัส แบ็กเค็ต ในศตวรรษที่ 12 ซึ่งระบุว่าพระแม่มารีได้ปรากฏพระองค์ต่อหน้านักบุญผู้นี้และประทานอินทรีทองคำให้ โดยทำนายว่ากษัตริย์อังกฤษในอนาคตจะทรงได้รับการเจิมด้วยอินทรีทองคำนี้
ส่วนฉลองพระหัตถ์ช้อนราชาภิเษกนั้น มีอายุเก่าแก่ยิ่งกว่าขวดอินทรีทองคำมาก ทั้งยังเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่รอดจากการถูกทำลายโดยนายโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ผู้โค่นล้มสถาบันกษัตริย์ในยุคสงครามกลางเมืองของอังกฤษ
ขณะที่น้ำมันศักดิ์สิทธิ์นั้น มีการผลิตขึ้นเพื่อพระราชพิธีในครั้งนี้เป็นพิเศษ โดยสกัดจากผลมะกอกที่ปลูกในป่าสองแห่งบนภูเขา Mount of Olives ในนครเยรูซาเลม ทั้งยังผ่านพิธีปลุกเสกในโบสถ์พระคูหาศักดิ์สิทธิ์ (Church of the Holy Sepulchre) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสุสานของพระเยซูอีกด้วย
ในระหว่างการเจิมน้ำมันนี้ เจ้าหน้าที่จะใช้ผ้าคลุมเป็นเพดานและม่านกั้นรอบบัลลังก์ราชาภิเษก เพื่อปิดบังสายตาของสามัญชนไม่ให้มองเห็นพิธีกรรมดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนที่มีความศักดิ์สิทธิ์สูงสุดในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เนื่องจากเป็นพิธีกรรมส่วนพระองค์ระหว่างกษัตริย์กับพระผู้เป็นเจ้า
ขั้นตอนที่ 4 : สวมพระมหามงกุฎ
เมื่อเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์และเปลี่ยนเครื่องทรงเรียบร้อยแล้ว พระราชพิธีได้ดำเนินมาถึงขั้นตอนสำคัญอันเป็นหัวใจของราชาภิเษกหรือการสถาปนาแต่งตั้งพระราชา โดยนักบวชจะถวายการสวมหรือวางพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดลงบนพระเศียรของกษัตริย์ ซึ่งตลอดพระชนมชีพพระองค์จะได้ทรงพระมหามงกุฎนี้เพียงครั้งเดียว ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเท่านั้น
พระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดนั้น ได้รับการขนานนามตามชื่อของกษัตริย์ยุคแองโกล-แซ็กซอน คือพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น “นักบุญเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพบาป” (Edward the Confessor) เชื่อกันว่ามีการใช้พระมหามงกุฎนี้ในพิธีราชาภิเษกมาจนถึงปี 1220 ก่อนที่จะถูกทำลายไปในยุคสงครามกลางเมือง ซึ่งต่อมา พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 โปรดให้ทำพระมหามงกุฎนี้ขึ้นใหม่โดยเลียนแบบของเดิม แต่มีการประดับตกแต่งเพิ่มเติมให้หรูหราอลังการยิ่งขึ้น
ในช่วง 360 ปีที่ผ่านมา มีกษัตริย์อังกฤษ 6 พระองค์ที่ได้ทรงพระมหามงกุฎนี้ ซึ่งก็คือ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2, พระเจ้าเจมส์ที่ 2, พระเจ้าวิลเลียมที่ 3, พระเจ้าจอร์จที่ 5, พระเจ้าจอร์จที่ 6, และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ดังนั้น สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 จะเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 7 ที่จะได้ทรงพระมหามงกุฎดังกล่าว
ก่อนจะถึงขั้นตอนการสวมพระมหามงกุฎ อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอเบอรีจะถวายลูกโลกประดับกางเขน, พระธำมรงค์ประจำองค์พระมหากษัตริย์, พระคทากางเขน, และพระคทานกพิราบ แล้วจึงถวายการสวมพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดได้ในที่สุด โดยจะมีการเป่าแตรและยิงสลุตทั่วสหราชอาณาจักรอย่างพร้อมเพรียงกัน โดยจะมีการยิงสลุต 62 นัด จากหอคอยแห่งลอนดอน และอีก 6 นัด จากลานสวนสนามของกองทหารม้ารักษาพระองค์ นอกจากนี้ จะมีการยิงสลุต 21 นัด จากสถานที่อีก 11 แห่งทั่วสหราชอาณาจักร รวมถึงที่เอดินบะระ, คาร์ดิฟฟ์, เบลฟาสต์, และจากเรือหลวงที่ลอยลำอยู่ในมหาสมุทร
ขั้นตอนที่ 5 : เสด็จขึ้นครองราชย์
ในขั้นตอนสุดท้ายนี้ กษัตริย์พระองค์ใหม่จะเสด็จขึ้นประทับบนพระราชอาสน์อันเป็นสัญลักษณ์ของการขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการ โดยในอดีตบรรดานักบวชและขุนนางอาจนำพระองค์ไปประทับยังพระราชอาสน์ด้วยวิธีอุ้มหรือยกพระวรกายไป
ตามธรรมเนียมดั้งเดิมแล้ว ในขั้นตอนนี้เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางจะพากันต่อแถวยาว เพื่อเข้าเฝ้าฯ ถวายความเคารพ โดยพวกเขาจะคุกเข่าลงต่อหน้าพระพักตร์ กล่าวถวายความจงรักภักดี ก่อนจะจุมพิตที่พระหัตถ์ขวา อย่างไรก็ตาม คาดว่าครั้งนี้พิธีการจะเปลี่ยนแปลงไป โดยเจ้าชายวิลเลียมจะเป็นพระราชวงศ์ที่มีฐานันดรชั้นดยุคเพียงพระองค์เดียว ที่ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายความเคารพต่อสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3
10) หลังจากพิธีการข้างต้นเสร็จสิ้นลงแล้ว จะมีการประกอบพระราชพิธีอภิเษกหรือการสถาปนาแต่งตั้งสมเด็จพระราชินี โดยนักบวชจะเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำหรับพระอัครมเหสี และถวายการสวม “พระมหามงกุฎควีนแมรี” โดยดำเนินพิธีการขั้นตอนต่าง ๆ อย่างเรียบง่ายกว่า ทั้งไม่ทรงต้องกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณตามแบบของกษัตริย์
ทั้งนี้ พระมหามงกุฎควีนแมรีนั้น เดิมทำขึ้นเพื่อใช้ประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมเด็จพระราชินีแมรีในพระเจ้าจอร์จที่ 5 แต่ขณะนี้กำลังมีการปรับปรุงโดยนำวงโค้งบางส่วนออก รวมทั้งติดตั้งเพชรคัลลิแนน 3 เม็ด ซึ่งล้วนเป็นเพชรที่ตัดแบ่งมาจากโคตรเพชรใหญ่ที่สุดในโลก
เมื่อพระราชพิธีเสร็จสิ้นลงแล้ว สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา จะเสด็จลงจากพระราชอาสน์เพื่อไปยังโบสถ์น้อยเซนต์เอ็ดเวิร์ดภายในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ เพื่อผลัดเปลี่ยนพระมหามงกุฎที่ทรงอยู่ จากพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดมาเป็นพระมหามงกุฎอิมพีเรียล ก่อนเสด็จออกจากมหาวิหารเพื่อทรงเข้าร่วมขบวนที่เตรียมเคลื่อนกลับไปยังพระราชวังบักกิงแฮม โดยจะมีการบรรเลงเพลงชาติของสหราชอาณาจักรในช่วงเวลาดังกล่าว โดยขบวนเสด็จจะเคลื่อนกลับไปตามเส้นทางเดิม แต่คราวนี้ราชรถที่ประทับจะใช้ราชรถทองคำอายุเก่าแก่ 260 ปี ซึ่งเป็นราชรถที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาตั้งแต่เริ่มต้นรัชสมัยของพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 เมื่อปีค.ศ. 1831
มีรายงานว่าเจ้าชายแห่งเวลส์และพระชายา รวมทั้งพระโอรสและพระธิดาคือเจ้าชายจอร์จ เจ้าหญิงชาร์ล็อตต์ และเจ้าชายลูอีส์ จะทรงเข้าร่วมในขบวนเสด็จขากลับนี้ด้วย โดยประทับในราชรถที่แล่นตามหลังราชรถทองคำ
กระทรวงกลาโหมของอังกฤษระบุว่า จะใช้กำลังทหารเกือบ 4,000 นายจากทุกเหล่าทัพ เพื่อเข้าร่วมใน“ปฏิบัติการเชิงพิธีการ” ครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในชั่วอายุคนรุ่นหนึ่งครั้งนี้ โดยพวกเขาจะเข้าร่วมการสวนสนามและถวายการอารักขาตลอดเส้นทางเสด็จกลับพระราชวังบักกิงแฮม
เมื่อขบวนเสด็จกลับถึงพระราชวังบักกิงแฮม กษัตริย์และราชินีพระองค์ใหม่จะทรงได้รับการวันทยาหัตถ์ถวายความเคารพและมีการเปล่งเสียงถวายพระพร 3 ครั้ง จากกองทหารที่เข้าร่วมการสวนสนาม จากนั้น สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา จะเสด็จออกสีหบัญชรตามราชประเพณีที่เคยมีมา แต่ยังไม่มีการยืนยันว่าพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดบ้างที่จะได้โดยเสด็จออกสีหบัญชรในครั้งนี้
การเสด็จออกสีหบัญชร ณ พระราชวังบักกิงแฮม หลังเสร็จสิ้นการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ถือเป็นธรรมเนียมที่พระราชวงศ์อังกฤษทรงยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอด นับเป็นโอกาสที่จะได้ทรงพบปะทักทายเหล่าพสกนิกร ซึ่งมารวมตัวกันถวายพระพรแสดงความยินดีต่อกษัตริย์พระองค์ใหม่ ที่ถนนเดอะมอลล์ด้านหน้าพระราชวังบักกิงแฮม
บนน่านฟ้า ฝูงเครื่องบินรบจากทุกเหล่าทัพจะบินผ่านเหนือพระราชวังบักกิงแฮม โดยใช้เวลาทำการบินถวายพระเกียรติ 6 นาที ปิดท้ายด้วยการแสดงของฝูงบินผาดแผลงแห่งกองทัพอากาศที่ได้รับฉายาว่า “ลูกศรสีแดง” (The Red Arrows) ซึ่งเป็นสัญญาณสิ้นสุดการเฉลิมฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 6 พ.ค.2566
ขอบคุณข้อมูล จาก BBC/CNN/วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี