แคลิฟอร์เนียเตรียมรับมือ “อุทกภัยครั้งใหญ่” ที่จ่อเกิดจากคลื่นความร้อน

30 เม.ย. 2566 | 17:10 น.

แคลิฟอร์เนีย รัฐที่มีประชากรมากที่สุดของสหรัฐอเมริกา เตรียมรับมือคลื่นความร้อนที่อาจทำให้เกิด "วันที่ร้อนที่สุดแห่งปี"และ"อุทกภัยใหญ่" จากหิมะมหาศาลที่กำลังละลายลงมา

 

เนื่องจาก อุณหภูมิความร้อน ทั่ว รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดของสหรัฐอเมริกา ขยับสูงขึ้นในสัปดาห์นี้จากอิทธิพลของ “คลื่นความร้อน” อาจทำให้แคลิฟอร์เนียต้องเผชิญกับ “วันที่ร้อนที่สุด”ของปี และ อุทกภัยครั้งใหญ่

หนังสือพิมพ์เดอะลอสแอนเจลิสไทมส์ สื่อท้องถิ่นของสหรัฐรายงานว่า อุณหภูมิในรัฐแคลิฟอร์เนียจะสูงถึง 100 องศาฟาเรนไฮต์ (ราว 37.7 องศาเซลเซียส) ภายในช่วงสุดสัปดาห์ (29 เม.ย.) ซึ่งนั่นทำให้คาดหมายว่า อุณหภูมิความร้อนจะทำให้หิมะละลายและมีน้ำท่วมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคเซ็นทรัล แวลลีย์ (Central Valley) ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมหลักซึ่งกินพื้นที่ทางตอนกลางของรัฐ

สำนักงานบริการสภาพอากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (NWS) ประจำพื้นที่อ่าวซานฟรานซิสโกระบุในทวิตเตอร์ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา (27 เม.ย.) ว่า ปัจจุบัน อุณหภูมิอากาศกำลังร้อนขึ้น และในพื้นที่ที่อบอุ่นที่สุดบางแห่งของรัฐแคลิฟอร์เนีย อุณหภูมิอาจสูงถึง 90 องศาฟาเรนไฮต์ (ราว 32.22 องศาเซลเซียส) หรืออาจจะอยู่ที่ 70-80 กว่าองศาฟาเรนไฮต์ (ราว 21.1-26.6 องศาเซลเซียสขึ้นไป) สำหรับพื้นที่ที่อยู่ห่างจากชายฝั่งและอ่าวใกล้เคียง

คลื่นความร้อนและอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้ชาวแคลิฟอร์เนียมุ่งหน้าสู่ชายหาดเพื่อดับร้อนยามนี้

“การละลายครั้งใหญ่ของหิมะ” ได้มาถึงแล้ว

สื่อของสหรัฐให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เนื่องจากมีหิมะหน้าหนาวจำนวนมหาศาลบนภูเขาหลายแห่งในแคลิฟอร์เนีย หนังสือพิมพ์ยูเอสเอทูเดย์รายงานว่า หิมะบนภูเขาหลายแห่งเริ่มละลายแล้วจากอุณหภูมิความร้อนที่เพิ่มมากขึ้น และคลื่นความร้อนที่กำลังเกิดขึ้นครอบคลุมรัฐแคลิฟอร์เนียก็ทำให้เกิดความกังวลว่าหิมะมหาศาลที่ละลายไหลลงมาจากภูเขา จะทำให้เกิดน้ำท่วมขึ้นได้ในหลายพื้นที่ทั่วทั้งรัฐ

สำนักงานทรัพยากรน้ำประจำรัฐแคลิฟอร์เนียระบุว่า ผลกระทบที่สืบเนื่องมาจากพายุฤดูหนาวทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำและลำธารเพิ่มสูงมากในระดับที่ไม่เคยพบในรอบหลายปี

ทั้งนี้ ภูมิภาคทุรกันดารขนาดใหญ่ของรัฐแคลิฟอร์เนีย อันรวมถึงอุทยานแห่งชาติโยเซมิตี และชุมชนเกษตรกรรมที่สำคัญบางแห่งมีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษที่จะเผชิญกับภาวะอุทกภัย

รัฐแคลิฟอร์เนียนั้น ถือเป็นรัฐที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอเมริกา ข้อมูลในปี 2018 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 รัฐแคลิฟอร์เนียมีมูลค่าจีดีพีที่ 2.97 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งพอๆ กับจีดีพีของประเทศอังกฤษทั้งประเทศที่ 2.81 ล้านล้านดอลลาร์เลยทีเดียว โดยอังกฤษนั้นต้องใช้แรงงาน 14.5 ล้านคนสำหรับจีดีพีดังกล่าว มากกว่าของรัฐแคลิฟอร์เนียราว 75%

น้ำท่วมพื้นที่บางส่วนของอุทยานแห่งชาติโยเซมิตี ทำให้ทางอุทยานฯประกาศปิดชั่วคราว

ปิดอุทยานฯโยเซมิตี

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หุบเขาอันกว้างใหญ่และงดงามส่วนใหญ่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติโยเซมิตี (Yosemite National Park) ของรัฐแคลิฟอร์เนีย จะปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเพื่อเตรียมรับมือภาวะฉุกเฉินเนื่องจากมีการพยากรณ์อากาศว่าอาจจะเกิดน้ำท่วมจากหิมะที่ละลายอย่างฉับพลัน

โดยทางอุทยานยานออกแถลงการณ์การปิดให้บริการจะเริ่มตั้งแต่เวลา 22.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันศุกร์(28 เม.ย.) จนถึงวันพุธที่ 3 พ.ค. หรืออาจจะนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าหิมะบนภูเขาจะละลายลงสู่แม่น้ำเมอร์เซดผ่านหุบเขาโยเซมิตีเร็วแค่ไหน ส่วนการจองที่พักและจุดตั้งแคมป์จะถูกยกเลิกและคืนเงินให้โดยอัตโนมัติ

การปิดพื้นที่อันโด่งดังด้วยแลนด์มาร์กสำคัญอย่างภูเขาหินเอล คาปิตาน (El Capitan) และภูเขาหินฮาล์ฟโดม (Half Dome) ครั้งนี้ มีขึ้นในขณะที่พื้นที่ตอนกลางของรัฐแคลิฟอร์เนียเตรียมรับมือกับคลื่นความร้อนสูง 90 องศาฟาเรนไฮต์ หรือประมาณ 32.2 องศาเซลเซียส และแม้อุณหภูมิในตอนกลางคืนจะไม่ลดลงต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง แต่ก็ยังคงมีอากาศอุ่นอยู่

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า อากาศที่อบอุ่นดังกล่าวจะช่วยเร่งการละลายของหิมะในฤดูใบไม้ผลิ หลังจากหิมะฤดูหนาวตกมากเป็นประวัติการณ์ในบางพื้นที่ของเทือกเขาเซียร์ราเนวาดา โดยน้ำจากหิมะละลายที่ไหลบ่ามาตามลาดเขาอาจทำให้แม่น้ำที่ล้นปริ่มอยู่แล้วไหลทะลักเข้าท่วมฝั่ง

นายแดเนียล สเวน นักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในนครลอสแอนเจลิส กล่าวเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (24 เม.ย.) ว่า “การละลายครั้งใหญ่ของหิมะ” ได้มาถึงแล้ว

ขณะเดียวกัน นายไมเคิล แอนเดอร์สัน นักภูมิอากาศวิทยาประจำรัฐแคลิฟอร์เนีย ให้ความเห็นว่า น้ำท่วมครั้งใหญ่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงสิ้นเดือนเมษายน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เจ้าหน้าที่ดูแลอ่างเก็บน้ำกำลังเร่งระบายน้ำออกเพื่อให้มีพื้นที่รองรับน้ำจากหิมะละลายได้เพิ่มมากขึ้น