ครัวเรือนอ่วม อากาศร้อนจัด ดันค่าใช้จ่ายเพิ่ม 9%

29 เม.ย. 2566 | 11:32 น.
อัปเดตล่าสุด :29 เม.ย. 2566 | 11:32 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ อากาศที่ร้อนจัด ดันค่าใช้จ่ายครัวเรือนเพิ่ม 9,666 บาทหรือ 9% จาก 3 หมวดหลัก ค่าไฟฟ้า ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ แนะเปลี่ยนวิถีไปสู่ความรักษ์โลก บรรเทาค่าใช้จ่ายระยะยาว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สภาพอากาศที่ร้อนจัด อาจกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเพิ่มเติมที่ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายครัวเรือนให้ปรับเพิ่มขึ้นใน 3 หมวดหลักๆ ได้แก่

  • ค่าไฟฟ้า ตามปริมาณการใช้ไฟที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสำหรับคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมือง ทำให้คาดว่าค่าไฟฟ้าของครัวเรือนเฉลี่ยในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค.ในปี 66 จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 974-1,124 บาท/ครัวเรือน เทียบกับช่วงเดือนอื่นๆ ของปี ที่คาดว่า จะอยู่ที่ราว 871 บาท/ครัวเรือน
  • ค่าอาหาร จากราคาวัตถุดิบที่ขยับสูงขึ้นตามสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ประกอบกับธุรกิจร้านอาหารอาจมีต้นทุนส่วนเพิ่มจากการใช้น้ำแข็งและตู้แช่เพื่อเก็บวัตถุดิบที่เน่าเสียง่าย เช่น อาหารทะเล เนื้อสัตว์ 
  • ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ จากการใช้จ่ายเพื่อรักษาโรคที่มากับความร้อน เช่น โรคไมเกรน อาหารเป็นพิษ โรคทางผิวหนัง 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในปี 66 ค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือนใน 3 หมวดดังกล่าว (สัดส่วนราว 39% ของค่าใช้จ่ายครัวเรือนทั้งหมด) จะคิดเป็นมูลค่าราว 9,666 บาท/เรือน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 65 ซึ่งอยู่ที่ราว 8,868 บาท/ครัวเรือน หรือขยายตัวราว 9.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 

ครัวเรือนอ่วม อากาศร้อนจัด ดันค่าใช้จ่ายเพิ่ม 9%

ขณะที่ค่าครองชีพยังอยู่ในระดับสูงและรายได้ยังใกล้เคียงเดิม ทำให้ครัวเรือนต้องมีการปรับลดค่าใช้จ่ายหมวดอื่นๆ ที่อาจมีความจำเป็นน้อยกว่า ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสินค้า Non-food (เสื้อผ้า รองเท้า)  เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายใน 3 หมวดที่ปรับเพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของค่าอาหารน่าจะทรงตัวในระดับสูงแม้จะผ่านช่วงหน้าร้อนไปแล้ว ขณะที่คาดว่าค่าไฟฟ้าอาจปรับลดลงได้ในช่วงเดือนอื่นๆ ของปีนี้ที่อากาศร้อนน้อยลง รวมทั้งมีมาตรการบรรเทาผลกระทบจากภาครัฐในเดือน พ.ค.บางส่วนด้วย

 

มองไปข้างหน้า ภาวะโลกร้อน น่าจะส่งผลให้อุณหภูมิโลกมีความแปรปรวน และมีโอกาสที่ฤดูร้อนจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับธุรกิจก็มีแนวโน้มปรับมาให้ความสำคัญกับประเด็นความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนส่วนเพิ่ม ทำให้ราคาสินค้าและบริการต่างๆ อาจไม่สามารถปรับลดลงได้ง่าย ซึ่งก็จะส่งผลกระทบมายังค่าใช้จ่ายของครัวเรือนให้อาจมีแนวโน้มสูงขึ้น

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องปรับเปลี่ยนวิถีในการดำเนินชีวิตไปสู่ความรักษ์โลกมากขึ้นเพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายในระยะยาว ในขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจเองก็อาจต้องให้ความสำคัญกับการปรับประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับการปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มุ่งสู่ความยั่งยืนเช่นกัน